บุกค้นบริษัทแม่ของเงินคริปโตฯ ลูนาและเทอร์รายูเอสดีในเกาหลีใต้ ส่อชัดโกงและเลี่ยงภาษี

454
0
Share:

อัยการเกาหลีใต้ เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่อัยการและตำรวจได้เข้าบุกตรวจค้นเทอร์ราฟอร์ม แลบส์ (Terraform Labs) เพื่อขยายผลการสอบสวนเรื่องเหรียญลูนา (Luna) และเทอร์รายูเอสดี (TerraUSD) ของเทอร์ราฟอร์ม แลบส์ ล่มสลายจนไร้มูลค่า

ในสัปดาห์ที่แล้วทีมสอบสวนของสำนักงานอัยการเขตโซลใต้ได้บุกตรวจค้นและยึดสิ่งของที่บริษัทแม่ ซึ่งมีนายแดเนียล ชิน ผู้ร่วมก่อตั้งทำหน้าที่ประธานอยู่ รวมทั้งตรวจค้นบ้านพักของประธานบริษัทแห่งหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเทอร์ราฟอร์ม เพราะสันนิษฐานว่าทำหน้าที่เป็นบริษัทสาขาในเกาหลีใต้ให้แก่เทอร์ราฟอร์ม

นอกจากนี้ ทีมสอบสวนยังได้ตรวจค้นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีในเกาหลีใต้ 7 แห่ง และสถานที่อื่นๆ อีก 8 แห่ง มีทั้งบ้านพักและสำนักงานของผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ หลายฝ่ายมองว่าการตรวจค้นล่าสุดมุ่งไปที่กระแสเงินไหลเวียนระหว่างบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทอร์ราฟอร์มกับกระบวนการพัฒนาเหรียญลูนาและเทอร์รายูเอสดี

อัยการเกาหลีใต้สอบสวนเทอร์ราฟอร์มในข้อหาฉ้อโกงและเลี่ยงภาษี ตามที่ผู้ลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซีทั้ง 2 สกุลนี้ยื่นฟ้องนายโด ควอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายแดเนียล ชิน ผู้ร่วมก่อตั้ง ในเดือนพฤษภาคมว่า ฉ้อโกงจากกรณีที่เกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล หลังจากเหรียญลูนาและเทอร์รายูเอสดีล่มสลายในเดือนนั้น ส่วนเมื่อเดือนที่แล้วทีมสอบสวนได้ขอบันทึกการเสียภาษีของนายควอน เพื่อตรวจสอบเรื่องการเลี่ยงภาษีด้วย

ตลาดเงินคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกเผชิญภาวะเลวร้ายจากหลายปัจจัยสำคัญ เริ่มจาก ปัจจัยด้านเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยถึง 3 ครั้งติดต่อกัน และครั้งที่ 3 ปรับขึ้นมากถึง 0.75% นับว่าแรงที่สุดในรอบ 28 ปี ราคาหุ้นในกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีถูกเทขายอย่างหนักและต่อเนื่อง ส่งผลดัชนีหุ้นนาสแดคในไตรมาสที่ 2 ดำดิ่งมากถึง -22% สู่ภาวะหมีสมบูรณ์แบบ และเลวร้ายที่สุดในรอบ 14 ปีผ่านมา

ปัจจัยต่อมา คือการล่มสลายของเหรียญดิจิทัลประเภทสเตเบิล คอยน์ ชื่อว่า เทอร์รายูเอสดี และเหรียญลูนา ปัจจัยที่สาม คือ แพลตฟอร์มบริการเงินกู้เพื่อลงทุนในตลาดเงินคริปโทเคอร์เรนซีชื่อดังมีชื่อว่า เซลเซียส เกิดภาวะยุติให้บริการถอนเงินของนักลงทุน เซลเซียสเสนอให้ผลตอบแทนสูงถึง 18% สำหรับการฝากเงินคริปโทเคอร์เรนซี จากนั้นเซลเซียสเสนอปล่อยเงินกู้จากเงินดังกล่าวให้กับนักลงทุนในตลาดเงินคริปโทเคอร์เรนซี ที่พร้อมจะจ่ายดอกเบี้ยสูงแลกเปลี่ยนกับการกู้เงินไปลงทุน แต่ราคาของเงินคริปโทเคอร์เรนซีตกต่ำอย่างรุนแรง ทำให้นักลงทุนกู้ยืมเงินเกิดภาวะขาดทุนมากมาย

ปัจจจัยต่อมา คือกองทุนประกันความเสี่ยงเงินคริปโทเคอร์เรนซีชื่อดัง ทรี แอร์โรว์ แคปปิตอล หรือ 3AC เกิดภาวะไม่สามารถชำระหนี้มูลค่า 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับลูกค้าได้ จึงถูกศาลสั่งให้เข้าสู่ขั้นตอนการขายทรัพย์สินของกองทุน เพื่อนำเงินมาชดใช้หนี้ให้กับลูกค้า