ปตท.ตั้งเป้าลงทุนครึ่งปีหลังอีก 2.5 หมื่นล้านบาท

705
0
Share:

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เปิดเผยว่า ได้รับมอบนโยบายจากนายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปตท.ยังเดินหน้าโครงการลงทุน 100% ตามแผนที่ได้วางไว้ทั้งปี ประมาณ 5.39 หมื่นล้านบาท ซึ่งในช่วงครึ่งปีแรกได้ลงทุนไปแล้ว 50%
.
ดังนั้นในช่วงที่เหลืออีกครึ่งปีหลังจะลงทุนโครงการที่ได้วางไว้ ใช้งบในส่วนที่เหลืออีกประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานอีกจำนวนหนึ่งผ่านโครงการก่อสร้างต่างๆ ขณะเดียวกันยังมีแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน จากการส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่
.

ทั้งนี้จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลกับระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงภาคธุรกิจและผู้ประกอบการไทย ที่อยู่ในระยะผ่อนคลายขึ้น แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด จึงทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ทั้งปี คาดว่าจะไม่ปรับตัวได้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
.
ทางปตท. ได้วางแผนการดำเนินงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยจัดตั้งศูนย์ PTT Group Vital Center เพื่อรักษาเสถียรภาพมั่นคงทางพลังงาน ปิโตรเลียม และปิโตรเคมีของไทย นำคู่ค้าและพันธมิตรทางธุรกิจกลับเข้าสู่การดำเนินงานในสภาวะปกติให้ได้โดยเร็วที่สุด และยังคงนโยบายทางการเงินอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง ส่งผลให้ผลประกอบการในไตรมาส 2 ปี 2563 ปตท. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,607 ล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ จำนวน 1,554 ล้านบาทในไตรมาส 1 ปี 2563
.
อย่างไรก็ตามผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ปตท.และบริษัทย่อยลดลงจากช่วงครึ่งแรกของ 2562 เนื่องจากสงครามราคาน้ำมัน สภาวะอุปทานล้นตลาดของน้ำมันดิบ ประกอบกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีลดลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจเนื่องจากผลกระทบโควิด-19 ส่งผลให้ปตท.และบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิในครึ่งแรกของปี 2563 เป็นจำนวน1.04หมื่นล้านบาท ลดลง 4.47 หมื่นล้านบาท จากในครึ่งแรกของปี 2562
.
นายอรรถพล กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจและแผนการลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตที่มั่นคงและยั่งยืนและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กลุ่ม ปตท. ได้ออกแบบธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดเป็น Next normal ทั้งธุรกิจปัจจุบันและโอกาสธุรกิจใหม่ รวมไปถึงการลงทุนเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปรับพอร์ตการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสอดคล้องกับแนวโน้มการใช้พลังงานระยะยาว ประกอบไปด้วย
.
1.การขยายธุรกิจไปสู่การประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี)ครบวงจร
.
2.การสร้างมูลค่าทางธุรกิจของกลุ่มปตท. ลดความซ้ำซ้อนในการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน
.
3. การเร่งพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่นการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีด้านพลังงาน อาทิ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) แพลตฟอร์มอัจฉริยะในการบริหารจัดการพลังงาน (Smart Energy Platform) และ สถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) เป็นต้น