ปตท.สผ. คาดหวังรัฐบาลใหม่ผลักดันการเร่งออกประกาศยื่นสิทธิสำรวจฯ ปิโตรเลียมภาคอีสาน

213
0
Share:
ปตท.สผ. คาดหวัง รัฐบาลใหม่ ผลักดันการเร่งออกประกาศยื่นสิทธิสำรวจฯ ปิโตรเลียม ภาคอีสาน

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลใหม่จัดตั้งเรียบร้อยแล้วด้านปิโตรเลียม ก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะผลักดันการเร่งออกประกาศยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกในพื้นที่ภาคอีสานเพราะมีศักยภาพที่จะผลิตก๊าซฯได้ และตามปัจจุบัน กรมเชื้อเพลิงฯ ได้กำหนดเขตพื้นที่แปลงสัมปทานในภาคอีสานไว้แล้ว 8 แปลง ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าแปลงข้างเคียง แหล่งสินภูฮ่อม จะมีศักยภาพที่จะทำให้สามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพองต่อจ.ขอนแก่นเดินหน้าผลิตไฟฟ้าต่อได้ โดยการลงทุนสำรวจและผลิตก๊าซฯจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี

ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีการลงทุนในแหล่งสินภูฮ่อม เพื่อผลิตก๊าซฯ ปริมาณ 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าน้ำพองของ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าราว 600 เมกะวัตต์ โดยแหล่งสินภูฮ่อม จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2575

ทั้งนี้มองว่าภาคอีสานยังมีศักยภาพผลิตก๊าซฯ แม้ว่าจะมีการลงทุนพลังงานทดแทนในพื้นที่ แต่การผลิตก๊าซฯได้เองในประเทศจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ รัฐได้ภาษีและค่าภาคหลวง สร้างความมั่นคง ต้นทุนไม่สูงมากดังนั้น การลงทุนผลิตก๊าซฯ กับการส่งเสริมพลังงานทดแทนก็ควรไปด้วยกันเพื่อสร้างสมดุลพลังงาน

อย่างไรก็ตามมั่นใจว่า ในเดือน เม.ย.2567 ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่ง G1/61หรือเอราวัณ ที่ระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้อย่างแน่นอน และจะผลิตต่อเนื่องในระดับนี้ไปตลอด 10 ปี ตามเงื่อนไขสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต( PSC) จากปัจจุบัน มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.ได้เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งอื่นชดเชยกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่ง G1/61 ได้แก่ แหล่งอาทิตย์ จากเดิมมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ อยู่ที่ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบัน ผลิตอยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่ง G2/61(บงกช) มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯปีนี้อยู่ที่ 825 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งนับเป็นการผลิตที่สูงกว่าเงื่อนไขสัญญาPSC กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และปัจจุบันผลิตได้สูงถึง860 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และยังคงเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมทั้งปีนี้ อยู่ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งก็ท้าทาย แต่โดยธรรมชาติไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ผลิตสูงอยู่แล้ว โดยแหล่งอื่นๆในอ่าวไทยก็เร่งเต็มที่แล้ว ที่เหลือก็ต้องไปเร่งจากโครงการต่างประเทศแทน เช่น โครงการ Oman Block 61 และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคชที่มีอัตราผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 13,000 บาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพิ่ม กำลังการผลิตไปที่อัตราเฉลี่ย17,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้