ประธานธนาคารกลางสหรัฐพูดชัด ไม่มีการพูดถึงเรื่องลดดอกเบี้ย เปิดช่องรอบขึ้นดอกเบี้ย

174
0
Share:
ประธาน ธนาคารกลางสหรัฐ พูดชัด ไม่มีการพูดถึงเรื่องลด ดอกเบี้ย เปิดช่องรอบขึ้นดอกเบี้ย

เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2023 หรือคืนผ่านมา นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด กล่าวว่า ในสถานการณ์ขณะนี้ และวิธีที่ดีที่สุดกับการตัดสินใจในปัจจุบันภายใต้ปัจจัยความไม่แน่นอน ทำให้ต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ 5.25% – 5.50% จากนั้นต้องติดตามต่อไปว่าภาวะการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อจะพัฒนาไปในทิศทางใดจากนี้ไปถึงการประชุมรอบต่อไปในเดือนธันวาคม ซึ่งจะเป็นครั้งสุดท้ายในปี 2023 นี้

ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังคงเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่มีคำตอบที่ชัดเจน บรรดากรรมการในคณะกรรมการนโยบายการเงินก็มีความตั้งใจที่จะปรับขึ้นดอกเบี้ยระยะสั้นอีกครั้ง ถ้าภาวะเงินเฟ้อยังคงมีทิศทางสูงขึ้น อีกทางหนึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักกับสภาวะเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เมื่อดอกเบี้ยในตลาดอาจมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไปหรือไม่ และต้องพยายามไม่ทำให้เกิดการสะดุดมากไปกว่านี้กับภาวะตลาดจ้างงานที่มีแนวโน้มคงที่ และการขยายตัวของอัตราค่าจ้างในสหรัฐ

การประชุมในครั้งนี้ กรรมการในที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ไม่มีการพูดถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น หรือแม้แต่จะพูดถึงโอกาสการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว

สำหรับมติการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาในคืนผ่านมา ปรากฏว่า เฟดมีมติตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระหว่าง 5.25-5.50% ซึ่งเป็นการตรึงดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 1 ปี 7 เดือน หรือตั้งแต่มีนาคมปี 2022 ซึ่งเป็นการขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันถึง 11 ครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดยังทรงตัวในระดับสูงสุดใน 22 ปีผ่านมา

ก่อนหน้านี้ในการประชุมเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2023 นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือเฟด กล่าวว่า เป็นที่รู้กันดีว่าประชาชนชาวอเมริกันไม่ชอบเงินเฟ้อ ไม่ชอบมากๆ แต่ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่แข็งแกร่ง พร้อมด้วยภาวะการจ้างงานที่เติบโตอย่างแข็งแรง จึงเป็นสิ่งที่เฟดจะต้องเพิ่มแรงกดดันไปยังตลาดการเงินจากนี้ไปถึงตลอดปี 2025 ด้วยความพยายามที่จะไม่ให้มีต้นทุนของภาวะเศรษฐกิจ และตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกามากไปกว่าในช่วงที่เฟดต้องต่อสู้กับวิกฤการณ์เงินเฟ้อในช่วงผ่านมา ในความเป็นจริง อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของเฟดจะยังคงระดับสูงขึ้นอีกเล็กน้อยไปจนกระทั่งในปี 2026 ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะยังคงรักษาการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องที่เฉลี่ยระดับ 1.8%

ถึงแม้ว่าภาวะเงินเฟ้อจะเริ่มลดลงในช่วงที่เหลือของปีนี้ และในปีต่อไป เฟดยังคงประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่จะปรับเปลี่ยนในครั้งแรกจะเป็นไปอย่างเบาบาง นั่นหมายถึง การคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นจะลดลง 0.5% ในปี 2024 อาจะส่งผลสุทธิต่อการปรับขึ้นแนวโน้มตัวเลขอัตราเงินเฟ้อแท้จริง ซึ่งเมื่อเดือนมิถุนายนผ่านมา ผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจำนวนหนึ่งมองว่าในปี 2024 จะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยระยะสั้น 1%

ประธานเฟด กล่าวต่อไปว่า เฟดต้องการเห็นหลักฐานที่ชัดเจนที่จูงใจได้ว่า เฟดได้ดำเนินการให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมที่สุด เพื่อที่จะสามารถดึงอัตราเงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2.0% อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าอัตราเงินเฟ้อที่วัดด้วยตัวชี้วัดบางประเภทยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับระดับเงินเฟ้อที่เฟดพึงพอใจ

ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา เปิดเผยคาดการณ์ว่า เมื่ออัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลดต่ำลงมาที่ระดับ 5.1% ในสิ้นปี 2024 และลดลงไปแตะที่ระดับ 3.9% ในสิ้นปี 2025 อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.3% ในช่วงสิ้นปีนี้ และจะลดลงเหลือระดับ 2.5% ในปี 2024 จนกระทั่งลงมาเหลือเพียง 2.2% ในสิ้นปี 2025 ดังนั้น เงินเฟ้อจะเข้าสู่เป้าหมายที่ระดับ 2.0% จึงอาจเป็นไปได้ในปี 2026

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมผ่านมา ในเวทีการประชุมประจำปีผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่แจกสัน โฮล์ สหรัฐอเมริกา นายเจอโรม พาวเวลล์ กล่าวว่า ถึงแม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงจากสถิติสูงสุด แต่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูงเกินไป ดังนั้น ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาเตรียมพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นต่อไปถ้าหากมีความเหมาะสม และตั้งใจที่รักษาอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในระดับที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกามั่นใจได้ว่าอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงอย่างต่อเนื่องไปสู่เป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา

คำกล่าวดังกล่าวคล้ายกับในการประชุมเดียวกันเมื่อปีผ่านมา ซึ่งเคยกล่าวเตือนว่า ความเจ็บปวดบางอย่างเกิดขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกายังคงพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะดึงอัตราเงินเฟ้อที่วิ่งห่างไกลออกจากเป้าหมายให้กลับเข้าสู่ระดับ 2%

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ามีความเสี่ยงทั้ง 2 ด้าน ในการจัดการด้วยอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ทั้งมากเกินไป และทั้งน้อยเกินไป หากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาจัดการน้อยเกินไป นั่นหมายถึงจะทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายมาก จนในที่สุดทำให้ต้องใช้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในการดึงภาวะเงินเฟ้อที่สูงต่อเนื่องด้วยต้นทุนสูงที่จะส่งผลกระทบการจ้างแรงงานในระบบเศรษฐกิจ