ปรับค่าแรงขั้นต่ำไม่กระตุ้นกำลังซื้อ

568
0
Share:

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 5-6 บาทว่าไม่ได้ส่งผลให้ต้นทุนโดยรวมของผู้ประกอบการปรับตัวสูงขึ้น จึงไม่ควรเป็นเหตุของการปรับเพิ่มราคาสินค้าและอัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น
.
แต่ก็ไม่ได้มีผลต่อการกระตุ้นกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจมากนัก เพราะปรับเพิ่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้ไม่ได้เป็นตามนโยบายที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้มีการหาเสียงเอาไว้ที่ 400-425 บาทต่อวัน ซึ่งคณะกรรมการไตรภาคีคงได้พิจารณาถึงประเด็นความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง และภาวะเศรษฐกิจว่าไม่สามารถดำเนินการได้
.
อย่างไรก็ตามควรมีมาตรการดูแลสถานประกอบการขนาดเล็กที่อาจได้รับผลกระทบจากขึ้นค่าจ้างด้วย และควรกำหนดให้มีโครงสร้างเงินเดือน สำหรับกิจการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป เพื่อเป็นระบบที่ดี และทำให้ลูกจ้างเห็นหลักประกันทางด้านค่าจ้าง ส่วนการใช้ระบบค่าจ้างทั่วไปก็ให้จ่ายค่าจ้างตามผลิตภาพและความสามารถในการผลิต และขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานในตลาดแรงงาน รวมทั้งปัจจัยต่างๆทางเศรษฐกิจ
.
นอกจากนี้อยากเสนอว่าประเทศไทยควรนำระบบค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงมาบังคับใช้ โดยให้มีอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายวันเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานที่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการก็มีความยืดหยุ่นในการจ้างงานและบริหารต้นทุนด้านแรงงานได้ดีขึ้นอีกด้วย และจ้างเท่าที่จำเป็นต้องใช้แรงงาน เช่น กำหนดการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมงที่ 50 บาทไม่ใช่เอาค่าจ้างขั้นต่ำรายวันมาเฉลี่ยเป็นรายชั่วโมงเพราะจะทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายชั่วโมงต่ำเกินไป
.
ที่สำคัญอยากเสนอให้ผู้กำหนดนโยบาย นายจ้าง ลูกจ้างและสถาบันฝึกอบรมเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้สอดรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปและเตรียมรับมือกับผลกระทบของเทคโนโลยี หุ่นยนต์อัตโนมัติ อินเตอร์เน็ตของทุกสิ่ง และ การพิมพ์สามมิติ ที่มีต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า อุตสาหกรรมอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์และตลาดการจ้างงานโดยรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่แรงงานไทยทั้งหมด 39 ล้านคนต้องเตรียมความพร้อมและรับมือ