ปัดซะเงิบ ! กฤษฎีกา ปัดตอบกลับรัฐบาล ไฟเขียวออก พ.ร.บ. กู้เงิน แจกดิจิทัลวอลเล็ต

207
0
Share:

นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการกฤษฎีกา ส่งความเห็นการกู้เงินของรัฐบาล 500,000 ล้านบาท เพื่อนำมาดำเนินโครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทว่า เนื้อความเห็นดังกล่าว รัฐบาลอาจต้องนำเข้าสู่คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตอีกครั้ง และความเห็นดังกล่าว เป็นเรื่องลับ ดังนั้น จะต้องให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้ชี้แจงในรายละเอียด แต่ยืนยันว่า ไม่มีคำว่าไฟเขียวเพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบกลับความเห็นเป็นข้อกฎหมายว่า เนื้อความในมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินและการคลังที่จะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องหรือแก้ไขวิกฤตของประเทศดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่านโยบายฯจะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาให้คำตอบได้เพียงเท่านี้

ส่วนจะออกเป็นกฎหมายได้หรือไม่นั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำว่า ตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังให้ออกเป็นกฎหมายได้ส่วนจะเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนดก็ถือเป็นกฎหมายเช่นกัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ให้ข้อเสนอแนะใด ๆ ในความเห็นดังกล่าว แต่เป็นการอธิบายมาตรา 53 และให้รัฐบาลไปรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้ โดยไม่ได้ระบุบ่งชี้ว่า ควรจะทำนโยบายดังกล่าวหรือไม่ เพราะกฤษฎีกา เป็นนักกฎหมาย และต้องอาศัยตัวเลขทางเศรษฐกิจ

ส่วนความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา สามารถใช้อ้างอิงได้หรือไม่หากดำเนินการตามแล้วจะไม่ผิดกฎหมายนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยืนยันว่า ใช้อ้างอิงได้ เพราะคณะกรรมการกฤษฎา ได้ยืนยันตามมาตรา 53 มาตรา 6 มาตรา 7 และมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังซึ่งหากรัฐบาลดำเนินการตามก็การันตีได้ว่าจะปลอดภัยแน่นอน

ขณะที่กรณีโครงการดังกล่าวนี้มีปัญหาจะสามารถอ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีเป็นเกราะป้องกันได้หรือไม่นั้นเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาย้ำว่าหากดำเนินการไปตามเงื่อนไขทุกอย่างก็จะไม่มีปัญหา

นอกจากนี้ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังปฏิเสธที่จะอธิบายถึงการตีความวิกฤต เนื่องจาก GPD โตไม่ทัน เนื่องจาก กฤษฎีกา เป็นนักกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบในเรื่องนี้ได้  อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ให้สามารถกู้เงินได้โดยตราเป็นกฎหมาย ซึ่งกฎหมายดังกล่าว รัฐบาลจะตราเป็นพระราชบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎร พิจารณา 3 วาระรวดก็ได้หรือพระราชกำหนดเหมือนที่ผ่านมาก็ได้