ปิดตำนานอิเซตัน 28 ปี

851
0
Share:

นายเซอิจิ อาโอยามา ประธานกรรมการ ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน ประเทศไทย เตรียมส่งจดหมาย (จดหมายระบุวันที่ 16 มีนาคม 2563) ถึงลูกค้าห้างสรรพสินค้าอิเซตันว่า ห้างดังกล่าวจะเลิกกิจการบนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ในวันที่ 31 สิงหาคม 2563 นี้ โดยจะไม่ต่อสัญญาเช่าพื้นที่กับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด(มหาชน) หรือ CPN ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ให้ห้างสรรพสินค้าอิเซตันเช่าพื้นที่บนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ อีกต่อไป สาเหตุตามที่ระบุในจดหมายชี้แจงว่า เป็นการสิ้นสุดสัญญาเช่า
.
ทั้งนี้ ห้างสรรพสินค้าอิเซตันเปิดกิจการในไทยมาเป็นเวลา 28 ปี หรือตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา โดยมีทั้งหมด 6 ชั้นบนศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ย้อนหลังไปเมื่อ 2015 ห้างดังกล่าวทุ่มเงินมูลค่าสูงถึง 1,000 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงโฉมใหม่ทั้งหมดหลังเปิดมานานถึง 23 ปี
.
หากมองในแง่วิเคราะห์ สภาพธุรกิจค้าปลีกทั่วโลกและในไทยต้องเผชิญทั้งภาวะการแข่งขันที่มีสูง การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรุนแรง การตัดสินใจดำเนินธุรกิจให้ไปต่อได้ หรือตัดสินใจยุติ จึงเกิดขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง สำหรับในช่วงที่ผ่านมานั้น ปัจจัยทางเศรษฐกิจในภาพรวม และภาพย่อย ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนทั้งจากภายนอกประเทศ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างรุนแรงและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยในปี 2562 เศรษฐกิจไทยตกต่ำมากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยเฉพาะกำลังซื้อของผู้บริโภคคนไทยที่ตกต่ำอย่างเรื้อรังจากภาวะหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงอันดับต้นๆในเอเชีย เมื่อเข้าสู่ปี 2563 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงมากขึ้นจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นับตั้งแต่ต้นปีนี้ ซึ่งหลากหลายสถาบันวิจัยเศรษฐกิจชั้นนำล้วนปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลงอย่างรุนแรงถึงขั้นจีดีพีติดลบ
.
โดยเฉพาะเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นเครื่องยนต์กระตุ้นแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจช้อปปิ้งในประเทศไทย ได้รับการคาดการณ์จากทุกสำนักเศรษฐกิจ รวมถึงหน่วยงานรับผิดชอบตลาดท่องเที่ยวของไทยว่าในปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตกต่ำลงอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโรคระบาดโควิด-19 หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เข้าสู่กรณีเลวร้ายที่สุดคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะได้รับผลกระทบยาวนาน 6 เดือน หรือสิ้นสุดการแพร่ระบาดในเดือนเมษายน ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยจะลดต่ำที่สุดในเดือนพฤษภาคม จากนั้นจะใช้ระยะเวลาฟื้นตัวราว 3 เดือน จึงคาดการณ์ว่าน่าจะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปีลดลงเหลือเพียง 30 ล้านคน หรือติดลบ 24% จาก 39.8 ล้านคนในปีก่อน และมีรายได้ราว 1.5-1.6 ล้านล้านบาท หรือหายไปประมาณ 4 แสนล้านบาท
.
ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม – 29 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดต่างประเทศที่เดินทางประเทศไทยลดลงไปแล้ว 40% และนักท่องเที่ยวจากตลาดจีนลดลง 81% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหากแบ่งตลาดเป็นภูมิภาคพบว่า เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือลดลงมากที่สุด 67% รองลงมาคือ ตะวันออกกลางลดลง 47% แอฟริกาลดลง 32% เอเชียใต้ลดลง 30% อเมริกาลดลง 23% โอเชียเนียและอาเซียลดลง 22% ในขณะที่ยุโรปลดลงน้อยที่สุดเพียง 5%
.
ส่วนตลาดที่ลดลงมากที่สุดคือ ตลาดจีน ลดลง 78.55% เกาหลีใต้ ลดลง 57.46% อินเดีย ลดลง 30% มาเลเซีย ลดลง 26.1% และสหรัฐอเมริกา ลดลง 23.44% และมีเพียงรัสเซียตลาดเดียวที่เติบโตอยู่ 9.05%