ปี 67 เอกชนไทยส่อแแววชักดาบเบี้ยวหนี้หุ้นกู้มากกว่า 16,400 ล้านจากปีที่แล้ว

580
0
Share:
ปี 67 เอกชนไทยส่อแแววชักดาบเบี้ยว หนี้ หุ้นกู้ มากกว่า 16,400 ล้านจากปีที่แล้ว

นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์และแนวโน้มความเสี่ยงของการจ่ายคืน หรือไถ่ถอนตราสารหนี้โดยเฉพาะหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนในประเทศไทย พบว่า มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทไทยในปีนี้ 2567 เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2566 ที่มีมูลค่าการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ในปีผ่านมารวมทั้งหมด 16,400 ล้านบาท จากการประเมินเบื้องต้น พบว่า กลุ่มบริษัทหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้สูงสุดคือ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงบริษัทเอกชนที่มีงบดุลแสดงความเสี่ยงสูงด้วย

สถานการณ์ตลาดหุ้นกู้เอกชนในไทยปัจจุบัน พบว่า ต่อเนื่องจากในปี 2566 ที่จะมีหุ้นกู้ซึ่งครบกำหนดชะรำ และต้องทำการ Roll Over ครบกำหนดชำระ มีจำนวนมากถึง 890,000 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าว ประกอบด้วยหุ้นกู้คุณภาพดี หรืออยู่ในกลุ่มลงทุนได้ หรือ Investment Grade โดยมีระดับเครดิตเรตติ้งสูงกว่า A ขึ้นไป รวมมูลค่ารวม 690,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 77% ของตลาดทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เกิดมีความกังวลว่า จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการผิดชำระหนี้ในระดับสูง โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นกู้ที่มีการเสนอจ่ายดอกเบี้ยสูงมาก ที่สำคัญ หุ้นกู้ในกลุ่มนี้ถูกจัดให้ไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือหรือเครดิตเรติ้งต่ำกว่าระดับลงทุน โดยหุ้นกู้กลุ่มนี้มีมูลค่าครบกำหนดชำระในปี 67 ประมาณ 52,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของหุ้นกู้ในระบบทั้งหมด ที่กำลังจะครบกำหนดในปี 2567 นี้

สำหรับสาเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสภาพตลาดหุ้นกู้ในภาพรวมของบริษัทเอกชนไทย ประกอบด้วย ความเสี่ยงของผลกระทบของดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้มีต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 2.5% เป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นสูงสุดในรอบ 10 ปีผ่านมา ผลกระทบจากความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ยที่ชะลอตัวรวมถึงนักลงทุนขาดความเชื่อมั่นที่มีต่อตลาดหุ้นกู้ จึงทำให้การที่บริษัทเอกชนจะทำการ Roll Over หุ้นกู้ของตนเองทำได้ยากขึ้น

สภาพตลาดหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนไทยที่ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้นปี 2566 มาถึงปัจจุบัน ในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์แรกของปีนี้ เมื่อวันที่ 11 มกราคมผ่านมา นายทะเบียนหุ้นกู้มีประกันของบริษัท สยามนุวัตร จำกัด (มหาชน) หรือ SNW ส่งเอกสารถึงนักลงทุนที่ถือครองหุ้นกู้เพื่อระบุแจ้งเชิญประชุมผู้ถือหุ้นกู้ของบริษัทสยามนุวัตร หรือ SNW ทั้ง 3 รุ่น ในวันที่ 23 มกราคม 2567 นี้ โดยมีวาระสำคัญ คือ ขอมติเลื่อนจ่ายหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2567 รวมมูลค่าหนี้ 520 ล้านบาท ออกไปจ่ายคืนในปี 2568

ในช่วงผ่านมา เมื่อปี 2566 บริษัทสยามนุวัตร จำกัด ขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้เลื่อนจ่ายหุ้นกู้ทั้ง 3 รุ่นออกไป 1 ปี จากเดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอนในปี 2566 มาเป็นปี 2567 สาเหตุจากผลกระทบจากปัญหาโควิด-19 ส่งผลต่อธุรกรรมการซื้ออสังหาริมทรัพย์ลดลง ดังนั้น การประกาศเรียกประชุมที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จึงถือเป็นครั้งที่ 2 ที่บริษัทสยามนุวัตร จำกัด เสนอปรับโครงสร้างหนี้ โดยขอขยายระยะเวลาไถ่ถอนหุ้นกู้ SNW ออกไป 1 ปี เป็นปี 2568

บริษัทสยามนุวัตร จำกัด ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2549 มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ดำเนินธุรกิจการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวสูง หรือคอนโดมิเนียม โดยเริ่มต้นเริ่มโครงการแรกมีชื่อว่าคอนโดมิเนียม WISH@SIAM (วิช แอท สยาม) เป็นตึกสูง 8 ชั้น มีทั้งหมด 282 ยูนิต ตั้งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS (ราชเทวี) ประมาณ 300 เมตร สามารถปิดการขายทั้งหมด 282 ห้องได้ในเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น

ต่อมาได้มีการสร้างโครงการคอนโดมิเนียมขึ้นอีกหลายแห่ง ได้แก่ WISH@SAMYAN บนถนนสี่พระยา คอนโดมิเนียม VERTIQ RAMA4-SIAM โครงการคอนโดมิเนียม WISH Signature Midtown Siam และโครงการ WISH Signature II Midtown Siam