ผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยเลวร้ายหนัก -8% ตั้งแต่ต้นปีนี้ ต่างชาติถล่มขาย 3 เดือนติด

176
0
Share:
ผลตอบแทน ตลาด หุ้นไทย เลวร้ายหนัก -8% ตั้งแต่ต้นปีนี้ ต่างชาติถล่มขาย 3 เดือนติด

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. กล่าวว่า กองทุนหุ้นไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ ที่มีเงินกลับลงทุนถึง 3,300 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี เป็นผลมาจากการที่ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) มีการปรับตัวลงทำให้ผู้ลงทุนสนใจกองทุนหุ้นไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงสิ้นเดือนเมษายน 2566 ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปิดที่ 1,529.12 จุด ปรับลดลง 5.0% จากเดือนก่อนหน้า และปรับลดลง 8.4% เมื่อเทียบกับสิ้นปีก่อนหน้า โดยมองว่าปรับไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์อื่นใน ASEAN

ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันใน SET และ mai ในเดือนเมษายน อยู่ที่ 46,811 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า 43.1% ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในสี่เดือนแรกปี 2566 อยู่ที่ 62,461 ล้านบาท

สำหรับผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิเป็นเดือนที่ 3 หลังจากซื้อสุทธิ 4 เดือนติดต่อกัน ในเดือนเมษายน 2566 ผู้ลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 7,901 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนต่างประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 12

ทั้งนี้ในเดือนเมษายน 2566 มีบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ซื้อขายใน SET 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) (MGC) และใน mai 1 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. พีลาทัส มารีน (PLT)

ด้าน Forward P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 15.0 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 12.4 เท่า และ Historical P/E อยู่ที่ระดับ 18.7 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 13.9 เท่า อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนเมษายน 2566 อยู่ที่ระดับ 3.14% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.36%

รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวต่อไปว่าเดือนเมษายนที่ผ่านมาทั้งตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกมีความผันผวนค่อนข้างมาก จากความกังวลในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) โดยในช่วงเดือนเมษายนมีการคาดการณ์ออกมามากมายถึงทิศทางของเฟด ก่อนที่เฟดจะประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในวันพุธ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5-5.25% แตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี

นอกจากนี้เฟดยังส่งสัญญาณว่าอาจจะยังมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อและจะยังไม่ปรับลดลงในปีนี้ แต่ก็มีนักลงทุนที่มองว่าเฟดน่าจะชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งปัจจัยที่ต้องคอยติดตามต่อ

ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนจะเห็นได้ว่าในภาพของเศรษฐกิจโลกยังคงมีความแข็งแกร่ง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2566 จะมีการชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย (Soft Landing)

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะยังคงสูงกว่าเป้า และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจถดถอยจะไม่รุนแรง รวมถึงปัจจัยภายในประเทศ อย่างการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน และดุลบัญชีเดินสะพัดที่กลับมาเป็นบวกต่อเนื่อง 2 เดือนติดกันถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีส่งผลให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค