ผลิตแอลเอ็นจีแหล่งเอราวัณวืดเป้า สนพ. จ่อนำเข้าเพิ่ม หวั่นต้นทุนเชื้อเพลิงกลับมาสูง

268
0
Share:
ผลิตแอลเอ็นจี แหล่ง เอราวัณ วืดเป้า สนพ. จ่อนำเข้าเพิ่ม หวั่นต้นทุนเชื้อเพลิงกลับมาสูง

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าการผลิตพลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้น 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค. – มิ.ย. 2566) ของไทยอยู่ที่ 678 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.9% เนื่องจากแหล่งน้ำมันดิบทานตะวันมีกำลังการผลิตลดลงถึง 30% ส่วนแหล่งก๊าซเอราวัณ (G1/61) กำลังการผลิตอยู่ที่ 200 ล้านลูกบาศฟุตต่อวัน ซึ่งสิ้นปีนี้คาดว่ากำลังการผลิตจะอยู่ที่ 400 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน ต่ำกว่ากำลังการผลิตที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตั้งเป้าหมายสิ้นปีอยู่ที่ 600 ล้านลบ.ฟุต/วัน

แม้ สนพ. ได้ปรับประมาณการแนวโน้มการใช้พลังงานปี 2566 ใหม่ อยู่ที่ 2,033 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1% แต่ลดลงจากเดิมคาดไว้เมื่อเดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 2,047 พันบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 2.8% ตามอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ของไทย ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ปรับลดประมาณการเติบโตเหลือ 2.5-3% จากที่เคยคาดไว้โต 3-4%

อย่างไรก็ตาม สนพ. ได้ปรับคาดการณ์แนวโน้มการใช้พลังงานจะลดลง แต่กำลังการผลิตปลายปีที่ไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้นคงต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) เข้ามา แต่ปริมาณจะเป็นเท่าใด คงจะต้องดูว่ากรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะสามารถเร่งการผลิตในแหล่งอื่นๆ มาเสริมได้มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดโลกครึ่งปีหลัง โดยเฉพาะช่วงไตรมาส 4 ของปีมีสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการเข้าสู่ฤดูหนาวของประเทศตะวันตก ประกอบกับประเทศซาอุดิอาระเบียจะขยายเวลาการลดกำลังการผลิตที่ต้องติดตามใกล้ชิด รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย จึงประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เบนซินอยู่ที่ 69-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และดีเซลอยู่ที่ 91-98 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ในส่วนของราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลพีจี) เอทานอลในช่วงไตรมาส 4 คาดว่าจะสูงขึ้น ยกเว้นในส่วนของไบโอดีเซล (B100) ที่มีทิศทางลดลงตามตลาดโลกที่มีความเข้มงวดในเรื่องของผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ส่วนภาพรวมการใช้พลังงานภาพรวมทั้งปีอาจเพิ่มสูงขึ้น หากรัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวจีน จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าไทยมากขึ้น รวมถึงราคาเชื้อเพลิงที่ส่งผลต่อการใช้ที่เพิ่มขึ้นและลดลงเช่นกัน โดยขณะนี้สนพ.กำลังหารือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงความกังวลต่อต้นทุนการนำเข้าไฟฟ้าจากพลังน้ำจาก สปป.ลาว ที่อาจสูงขึ้น อาจต้องปรับมาใช้เชื้อเพลิงอื่นแทน เนื่องจากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลง คาดว่าปีนี้การนำเข้าไฟฟ้าและไฟฟ้าพลังน้ำจะลดลง 13.7% ส่วนความต้องการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ปีนี้คาดว่าจะลดลง 5.4% เพราะราคาแพง