ผู้ค้าปลีกขาดความมั่นใจเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ข้าวของแพงจัดมัดมือผู้บริโภค

290
0
Share:
ผู้ค้าปลีกขาดความมั่นใจเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ข้าวของแพงจัดมัดมือผู้บริโภค - เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก

นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สำหรับภาคค้าปลีกและบริการของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดยตรงน้อยมาก แต่ได้รับผลกระทบโดยอ้อมผ่านราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นที่กระทบกับเงินเฟ้อ ราคาสินค้า และค่าครองชีพ อีกทั้ง การฟื้นตัวของกำลังซื้อในประเทศก็ยังไม่เข้มแข็ง และยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตที่ปรับสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงจากความเชื่อมั่นที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัจจัยลบมากมาย แต่ก็ยังมีปัจจัยบวก นับตั้งแต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่กักตัวสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ โดยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงสิ้นปีอยู่ที่ 7.5–10 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะมาเติมกำลังซื้อ รวมถึงดึงศักยภาพการจับจ่ายของกลุ่มผู้บริโภคบางส่วนมาชดเชยปัจจัยลบได้บ้าง

รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก หรือ RSI พบว่าในเดือนมิถุนายน 2565 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกอยู่ที่ 48.9 ลดลง 4.4 จุด เทียบกับดัชนีเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ 53.3 จุด เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ปรับตัวลดลง ส่งผลมาจากภาวะค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นซ้ำเติมกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังอ่อนแอ ผู้ประกอบการไม่มีความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจ ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 4.4 จุดจากระดับ 58.7 จุด ในเดือนพฤษภาคม มาที่ 54.3 จุดในเดือนมิถุนายน

แสดงให้เห็นถึงความกังวลต่อแนวโน้มต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่คาดการณ์ว่าจะถูกปรับลดลง ภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มจะ ดีดตัวเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

การเพิ่มขึ้นของยอดใช้จ่ายต่อใบเสร็จ 6.5 จุด อยู่ที่ระดับ 52.2 เป็นการเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ได้เกิดจากการจับจ่ายที่เพิ่มขึ้น (เป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้น 7%) ในขณะที่การทำกิจกรรมนอกบ้านมีทิศทางที่เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่การเปิดโรงเรียน การกลับเข้าสู่สถานที่ทำงาน ของทั้งภาคเอกชนและรัฐ แต่ความถี่ในการจับจ่ายกลับลดลง 5 จุดมาอยู่ที่ระดับ 50.0 และยอดขายสาขาเดิม Same Store Sale Growth (SSSG-YoY) ปรับลดลง 6.5 จุด และอยู่เหนือค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 เพียงเล็กน้อย สะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคชะลอการจับจ่าย พร้อมทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแอทำให้การจับจ่ายโดยรวมไม่เติบโต ผู้บริโภคมุ่งเน้นซื้อสินค้าที่จำเป็น ลดการบริโภค ซึ่งเป็นสัญญาณที่ไม่ค่อยดีนัก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างเร่งด่วน”