พลังงานชี้ปรับลดค่าไฟตามเอกชนร้องขอ ต้องรอนโยบายรัฐบาลใหม่ ตอนนี้ยังลงยาก ปัจจัยลบมาก

210
0
Share:
พลังงาน ชี้ปรับลด ค่าไฟ ตามเอกชนร้องขอ ต้องรอนโยบายรัฐบาลใหม่ ตอนนี้ยังลงยาก ปัจจัยลบมาก

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนกำลังติดตามการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ คาดหวังว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะต้องมีความกล้าหาญและมีความจริงใจในการแก้ปัญหาโครงสร้างค่าไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเป็นหนึ่งในค่าครองชีพที่สำคัญของประชาชน ไม่ควรให้ค่าไฟฟ้าเป็นแหล่งหาผลประโยชน์ใดๆ

อย่างไรก็ดี นายอิศเรศได้เสนอทางออกของค่าไฟฟ้าจะต้องแก้ไขที่ต้นเหตุและปรับโครงสร้าง เพื่อประชาชนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยต้องแก้ไขทั้งระยะเร่งด่วน กลางและยาว

โดยระยะแรกต้องเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ได้แก่
– การปรับหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยการใช้เครื่องมือทางการเงินมาช่วย อย่างการออกพันธบัตรรัฐบาลด้วยระยะเวลาที่เหมาะสม อาทิ 5 ปี
– การแก้ไขปัญหากำลังการผลิตไฟฟ้า (ซัพพลาย) ที่เกินกับความต้องการ อาทิ แก้ไขปัญหาค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า (เอพี) โดยเร่งเจรจาลดมาร์จิ้น ยืดเวลาของสัญญาเดิม ควบคู่ไปกับการไม่เร่งเพิ่มปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่
– ส่งเสริมและปลดล็อกการเข้าถึงพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ ให้สะดวกและเป็นธรรม
– การปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจี) อาทิ การลดมาร์จิ้นเอ็นจี ขายเอสพีพี (ผู้ผลิตไฟรายเล็ก) ให้ใกล้เคียงขายไอพีพี (ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่) ปรับสูตรราคาเอ็นจี ขายปิโตรเคมีเป็นราคาเดียวกับขายโรงไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพการจัดหา ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ทั้งลองเทอมและสปอต

สำหรับการแก้ไขปัญหา ระยะกลาง และระยะยาว ได้แก่
– เร่งรัฐบาลเจรจาเรื่องเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (Overlapping Claimed Area: OCA) ให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว
– การเปิดให้บุคคลที่สาม (Third Party Accessหรือ TPA) ระบบโลจิสติกส์ของไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ ส่งเสริมการแข่งขันเสรี ลดการผูกขาดใดๆ
– ปรับกลไกการบริหารพลังงาน และค่าไฟฟ้า ทั้งระดับนโยบาย ผู้ควบคุม ผู้ดำเนินการ ให้โปร่งใส มีความเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลด้วยค่าไฟฟ้าเป็นระบบคอสต์พลัส และควรจัดตั้งเวทีคณะกรรมการร่วมรัฐและเอกชน (กรอ.) พลังงานเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การปรับโครงสร้างค่าไฟตามข้อเสนอเอกชนนั้นต้องรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าค่าเอฟที งวดมกราคม-เมษายน 2566 ยังมีทั้งปัจจัยลบและบวกที่ต้องติดตามใกล้ชิด มีโอกาสที่จะทรงตัวระดับสูงเนื่องจากภาระค่าเชื้อเพลิงที่ค้างจ่าย กฟผ. 1.1 แสนล้านบาท จำเป็นต้องทยอยจ่าย ขณะที่ราคาน้ำมันช่วงปลายปีจะมีต้นทุนโดยรวมสูงขึ้น ทิศทางพลังงานของโลกที่ยังคงไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ภัยแล้งที่จะกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนที่ลดต่ำลงซึ่งรวมถึงการซื้อไฟจากเขื่อนของ สปป.ลาวด้วย ส่วนปัจจัยบวกคือก๊าซธรรมชาติจากแห่งเอราวัณจะมีอัตราการผลิตที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะลดภาระการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มีราคาแพงลงได้