พลังงานเผยต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มอีกแล้ว เบ็ดเสร็จดันค่าไฟแตะ 4.45 บาทเรียบร้อย

224
0
Share:
พลังงาน เผย ต้นทุน ค่าไฟฟ้า เพิ่มอีกแล้ว เบ็ดเสร็จดันค่าไฟแตะ 4.45 บาทเรียบร้อย

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ต้นทุนค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นไปอีกเป็นเป็น 4.10 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้นมา 0.03 บาทเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนค่าไฟฟ้าเดิมที่ 4.07 บาท สาเหตุจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG ปรับสูงขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นภาวะปกติที่ราคาก๊าซธรรมชาติตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว นอกจากนี้ การเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของแหล่งก๊าซเอราวัณ (G1/61) เพิ่มขึ้นเพียง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต จากเป้าหมายที่ต้องเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติมาผลิตเสริม ท่ามกลางราคาก๊าซธรรมชาติส่งมอบทันที หรือราคาก๊าซธรรมชาติ LNG spot เพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี

ดังนั้น เมื่อพิจารณากับการชดใช้หนี้ของรัฐบาลให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งอยู่ที่ 38 สตางค์ ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้ารวมขึ้นมาอยู่ที่ 4.45 บาท

ด้านสำนักงานคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) กระทรวงพลังงาน ระบุว่า การลดค่าไฟฟ้าขึ้นอยู่กับ 2 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกแรก รัฐบาลเจรจาชะลอคืนหนี้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งจะทำให้ค่าไฟรอบเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 อยู่ที่ 4.10 บาทต่อหน่วย จากราคาที่ได้ประกาศไว้ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย

ทางเลือกสุดท้าย คือ รัฐบาลใช้เงินงบประมาณสนับสนุนอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.25 บาทต่อหน่วย หากทำทางเลือกนี้ได้ แม้จะมีการประกาศค่าไฟรอบ 4 เดือนสุดท้ายไปแล้ว ยังสามารถเปลี่ยนและใช้วิธีให้ส่วนลดย้อนหลังเหมือนที่เคยทำในอดีตได้

ในข่วงผ่านมา รายงานตัวเลขต้นทุนที่แท้จริง พบว่า ค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 จะอยู่ที่หน่วยละ 4.07 บาท อย่างไรก็ตาม มติของกกพ.เรียกเก็บค่าไฟที่หน่วยละ 4.45 บาท เนื่องจากเพื่อต้องการคืนหนี้ให้กับกฟผ.ที่ประมาณ หน่วยละ 38 สตางค์ หรือคิดเป็นเงินประมาณ 600 ล้านบาทต่อ 1 สตางค์ ในยอดรวม 1 งวด นั่นหมายถึงเงินที่ต้องคืนกลับให้กฟผ.อยู่ที่ประมาณ 22,800 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในการแก้ปัญหาราคาค่าไฟที่สำคัญคือ ต้องรีบเพิ่มกำลังผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย เพราะจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยในเรื่องของภาระค่าใช้จ่ายที่น้อยลง เพราะหากเพิ่มกำลังผลิตขึ้นมาไม่ได้ ก็จะแบกค่าใช้จ่ายไว้อย่างนี้อีกต่อไป ซึ่งการแก้ปัญหาในเบื้องต้นแบบเร่งด่วนก็คือ รัฐบาลจะต้องดูตัวเลขเองว่าจะให้ค่าไฟอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งกฟผ. เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลถือหุ้น 100% ดังนั้น รัฐบาลอยากให้รับไว้ก่อนก็ได้ แต่ต้องดูว่าสถานะรับได้เท่าไหร่ และจะดูราคาในระยะยาวมากกว่าที่จะดูราคาในงวดนี้งวดเดียว

ทั้งนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกอย่างเป็นทางการของรัฐบาลจะมีขึ้นในวันที่ 13 กันยายน 2566 นี้