พาณิชย์เผยส่งออกเดือนเม.ย.63 โต 2.12% ทำ 4 เดือนแรกโต 1.19%

738
0
Share:

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าไทยระหว่างประเทศในเดือนเม.ย.2563ว่า การส่งออกมีมูลค่า 18,948 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2.12% ขณะที่ 4 เดือนแรก มีมูลค่า 81,620 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 1.19%
.
ด้านการนำเข้าในเดือนเม.ย. มีมูลค่า 16,486 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 17.13% ด้าน 4 เดือนแรกมีมูลค่า75,224 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 5.72% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเม.ย. เกินดุล 2,462.3 ล้านดอลลาร์ และ 4 เดือนแรกเกินดุล 6,396 ล้านดอลลาร์
.
การส่งออกในเดือนเม.ย.นี้ ยอมรับว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ เพราะสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี และการส่งออกของไทยทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
.
สำหรับปัจจัยบวกคือ สินค้าเกษตรแปรรูปและอาหารหลายรายการขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสินค้าอุตสาหกรรมรวมกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่เริ่มฟื้นตัวได้ดี รวมถึงทองคำที่ขยายตัวถึง 1,102.8% ส่วนปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก ประกอบด้วย การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้จะมีอุปสงค์จากต่างประเทศ แต่ยังคงมีปัญหาในเรื่องการส่งออก การขนส่ง
.
ขณะเดียวกันที่ส่งผลต่อมูลค่าการส่งออก คือ ราคาน้ำมัน แม้จะสูงขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้การส่งออกเม.ย. มีสินค้ากลุ่มอาหารและเกษตรที่ทำได้ดีหลายตัว ข้าวกลับมาบวกอีกครั้ง 23.1% กลับมาบวกครั้งแรกในรอบ 18 เดือน สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง ที่ขยายตัวดี โดยได้รับผลดีจากบางประเทศชะลอการส่งออก หรือ ส่งมอบสินค้าไม่ทัน
.
ส่วนกลุ่มอาหารเกษตรแปรรูป ขยายตัวต่อเนื่อง เช่น ไก่ ผัก ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง เครื่องปรุงรส ที่ขยายตัวได้ดี กลุ่มอาหารรวมทั้งแช่เย็นแช่แข็ง กลุ่มนี้ส่งออกได้ดี ทำให้กลุ่มเกษตรอาหาร ขึ้นมาเป็นมาร์เก็ตแชร์เกือบ 20% ของการส่งออกไทย ซึ่งเป็นระดับตัวเลขที่น่าพอใจ
.
ด้านสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีปัญหา รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่ลดลงเยอะ โดยเฉพาะรถยนต์ที่ลดลง 50% แต่ทั้งนี้ ยืนยันว่า ยังมีดีมาน แต่ยังมีอุปสงค์ในด้านการขนส่ง
.
ส่วนแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 2/63 คาดว่าจะอยู่ในแดนลบ เช่นเดียวกับตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า ในระยะต่อไปการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวขึ้น และมองว่าตัวเลขเดือนนี้ถือเป็นจุดต่ำสุดมากแล้ว

.
ส่วนในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า มองว่าตลาดที่ยังชะลอตัวคือ ตลาดยุโรป เอเชียใต้ และอินเดีย เพราะยังมีการล็อกดาวน์ให้ประชาชนยังคงอยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ แต่ในช่วงที่เหลือของปีนั้น มองว่า การส่งออกในแต่ละเดือนอาจไม่ถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ตามค่าเฉลี่ยปกติ เนื่องจากในปีนี้มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบทั่วโลก