พาณิชย์เสนอแผนเข้าร่วม CPTPP ให้ครม.พิจารณา

1156
0
Share:

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอผลการศึกษาและระดมความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ของไทย ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้ว
.
ทั้งนี้ ผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์สรุปว่า การเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว 0.12% (คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท) การลงทุนขยายตัว 5.14% (คิดเป็นมูลค่า 148.24 พันล้านบาท) แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบ GDP ไทยลดลง 0.25% (คิดเป็นมูลค่า 26.6 พันล้านบาท) และกระทบการลงทุน 0.49% (คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท)
.
รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่หรือกระบวนการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านอาเซียน เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว โดยพบว่าตั้งแต่ที่ความตกลง CPTPP หาข้อสรุปได้ในปี 2558 จนถึงปี 2562 การส่งออกของเวียดนามไปประเทศสมาชิก CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ย7.85% และของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9.92% ขณะที่การส่งออกของไทยไป CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 3.23% ส่วนเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้า (FDI Inflow) ของเวียดนาม และสิงคโปร์ ในปี 2562 มีมูลค่า 16,940 และ 63,939 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ ขณะที่ของไทยมีมูลค่าเพียง 9,010 ล้านดอลลาร์
.
โดยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นปัจจัยเร่งให้ระบบเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนเปลี่ยนไป ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร แรงงาน เจ้าของกิจการ โดยเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาเติบโตเพราะไทยเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการผลิตโลก ไทยมีศักยภาพในการผลิตสินค้า ที่มีกำลังการผลิตเพียงพอเกินความต้องการในประเทศ และสามารถเติบโตจนเป็นผู้ส่งออกที่ติดอันดับท๊อปเทนของโลกในสินค้าต่างๆ และมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเหล่านี้มาก เช่น อาหาร รถยนต์และชิ้นส่วน เครื่องปรับอากาศ เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
.
ทั้งนี้ ภายหลังโควิด-19 รูปแบบการค้า กฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศจะเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานของสินค้าที่สูงขึ้น การให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของอาหาร สิ่งแวดล้อม แรงงาน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล การให้แต้มต่อทางการค้า และเปิดตลาดให้กับกลุ่มพันธมิตรทางการค้าหรือประเทศที่มีมาตรฐานเดียวกัน
.
อย่างไรก็ตาม มองว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่ไทยต้องหาพันธมิตรใหม่ๆ หรือเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงการค้าสมัยใหม่ อาทิ CPTPP เพื่อช่วยให้ไทยได้แต้มต่อทางการค้า และเป็นประเทศที่น่าสนใจในสายตาของนักลงทุน รวมทั้งไม่ตกขบวนรถไฟของกระบวนการหรือห่วงโซ่การผลิตโลก และเป็นฐานการผลิตและการลงทุนในภูมิภาค ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย
.
นางอรมน เพิ่มเติมว่า เมื่อพิจารณาการค้ารวมระหว่างไทยกับสมาชิก CPTPP ไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้าสมาชิก CPTPP มาโดยตลอด ในปี 2562 ไทยได้เปรียบดุลการค้าที่ 9,605.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ ไตรมาสแรกปี 2563 ได้เปรียบดุลการค้า 3,934 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงถือว่า CPTPP เป็นตลาดที่ไทยมีความพร้อมในการแข่งขัน
.
โดยผลการศึกษายังชี้ว่า กลุ่มสินค้าที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ตลาดสมาชิก CPTPP เช่น ญี่ปุ่น (เนื้อไก่แปรรูป เนื้อสุกรแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง ข้าว น้ำตาล) แคนาดา (อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ผลไม้ปรุงแต่ง ยางพารา ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องทำความร้อน) เม็กซิโก/เปรู/ชิลี (ข้าว น้ำตาล เนื้อไก่สด ตู้เย็น รถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรศัพท์ เครื่องซักผ้า ยางรถยนต์ เครื่องแต่งกาย เครื่องปรับอากาศ) เป็นต้น
.
สำหรับสาขาบริการและการลงทุน กลุ่มธุรกิจที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์ เช่น สาธารณสุข ก่อสร้าง ท่องเที่ยว เป็นต้น ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ไทยต้องเตรียมปรับตัว จะเป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตน้อยกว่าประเทศสมาชิก CPTPP เช่น สินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง สินค้าต้นทุนต่ำ แต่ก็จะมีเวลาในการปรับตัวเช่นเดียวกับสมาชิกอื่นๆ ที่ขอเวลาปรับตัวสูงถึง 21 ปี ซึ่งเป็นโอกาสของไทยที่จะต้องเร่งพัฒนาปรับโครงสร้างการผลิตและให้ความสําคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม และอาจนำเข้าวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตที่จะเป็นประโยชน์ต่อต้นทุนการผลิตของไทยมากขึ้น
.
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการเตรียมกลไกช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร SMEs และผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากความตกลง โดยอยู่ระหว่างศึกษาและหารือผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุน FTA ที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพและความต้องการต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ
.
นางอรมน เสริมว่า สำหรับประเด็นที่มีผู้กังวลว่าความตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทย ผลการศึกษาข้อในบทความตกลง CPTPP และข้อผูกพันของประเทศสมาชิก CPTPP พบว่า 1.ความตกลงฯ ได้ถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตลอดจนการผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลง CPTPP จึงไม่มีข้อบทนี้ และสมาชิก CPTPP ไม่มีข้อผูกพันเรื่องนี้
.
นอกจากนี้ ความตกลง ข้อ 18.41 และ 18.6 กำหนดให้สมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า (public noncommercial use) อีกทั้งจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในประเด็นการใช้ CL เพราะข้อบทการลงทุนข้อที่ 9.8 เรื่องการเวนคืน (expropriation) ย่อหน้าที่ 5 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะไม่นำมาใช้กับมาตรการ CL
.
ขณะเดียวกัน ข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาทข้อ 28.3.1 (C) ไม่ได้รวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของข้อบทในขอบเขตการระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก CPTPP
.
2.เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิก CPTPP สามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย จึงแก้ปัญหาที่เกษตรกรมีข้อกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV รวมทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม
.
3.สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลงฯ เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันทำให้สมาชิก CPTPP สามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนาม ขอเวลาปรับตัวถึง 25 ปี
.
นอกจากนี้ สำหรับข้อกังวลอื่นๆ ที่มีหน่วยงาน ภาคเกษตร ภาคประชาสังคมหยิบยก ไทยก็จะต้องเข้าไปเจรจา ต่อรองเพื่อขอข้อยืดหยุ่น และข้อยกเว้น ที่จะไม่รวมเรื่องที่ไทยมีข้อกังวล หรือไม่พร้อมจะเปิดตลาด หรือไม่พร้อมจะปฏิบัติตามพันธกรณีไว้ในข้อผูกพันของไทย ดังเช่นที่ประเทศสมาชิก CPTPP มีการขอเวลาปรับตัว และขอข้อยกเว้นไว้ ซึ่งในส่วนการทำหนังสือถึง ครม. ของกระทรวงพาณิชย์ เป็นเพียงขอพิจารณาให้ไทยเคาะประตูไปเจรจากับสมาชิก CPTPP ซึ่งเป็นเพียงก๊อกแรก หรือขั้นตอนเริ่มต้นเท่านั้น เป็นการขอโอกาสไปคุยกับสมาชิก CPTPP เพื่อเตรียมตัวรับมือการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น และรูปแบบการค้าที่จะเปลี่ยนไปหลังโควิด-19
.
นางอรมน ให้ข้อมูลว่า หาก ครม. เห็นชอบให้ไทยขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน คือ ไทยจะต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วม หลังจากนั้น จะมีการตั้งคณะเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด
.
อย่างไรก็ตามในระหว่างการเจรจาจะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุด การตัดสินใจว่า ไทยจะยอมรับผลการเจรจา และเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
.
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันความตกลง CPTPP แล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยความตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561 ซึ่งสมาชิก CPTPP 7 ประเทศ มีประชากรกว่า 415.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรโลก
.
โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับ CPTPP 7 ประเทศ มีมูลค่ารวม 114.93 พันล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 23.6 ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปยังสมาชิก CPTPP มูลค่า 61.48 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 25 ของการส่งออกไทยไปโลก) และนำเข้ามูลค่า 53.44 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 22 ของการนำเข้าของไทยจากโลก)
.
นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่แสดงความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP เช่น สหราชอาณาจักร เกาหลีใต้ โคลัมเบีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เป็นต้น ซึ่งเมื่อรวมกับประเทศสมาชิก CPTPP 11 ประเทศดั้งเดิม จะทำให้กลุ่มประเทศเหล่านี้มีสัดส่วนการค้ากับไทยประมาณร้อยละ 40 ประชากรรวมประมาณ 1,000 ล้านคน

.