ฟ้องหุ้นฉาว! นักลงทุนกว่า 50 คนฟ้องบริษัท STARK เสียหายพุ่งกว่า 9,000 ล้านบาท

411
0
Share:
ฟ้อง หุ้น ฉาว! นักลงทุนกว่า 50 คนฟ้องบริษัท STARK เสียหายพุ่งกว่า 9,000 ล้านบาท

วันนี้ 4 กรกฎาคม 2566 ที่กองบังคับการตำรวจปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กลุ่มผู้เสียหายกรณีลงทุนหุ้นกู้กับบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STARK ราว 50 คน พร้อมเอกสาร ได้เดินทางมายังอาคารพิทักษ์สันติ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และ บก.ปอศ.

กลุ่มนักลงทุนดังกล่าวได้เข้าพบและหนังสือถึง พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ขอร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับพวก ฐานกระทำความผิดตาม มาตรา 82 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมี พ.ต.อ.ธีรภาส ยั่งยืน ผกก.3 บก.ปอศ. เป็นผู้ประสานงานและรับเรื่องไว้พิจารณา

โดยนำหลักฐานสำเนา FACTSHEET ชี้ชวนลงทุนของบริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), สำเนาใบหุ้นกู้ ชนิดระบุชื่อผู้ถือ ออกโดยบริษัท สตาร์คฯ, สำเนาหนังสือ ที่ STARK 030/2566 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2566, สำเนาหนังสือรับรอง บริษัท สตาร์คฯ ลงวันที่ 13 มิถุนายน 2566, สำเนาหนังสือรับรอง บริษัท สตาร์คฯ ระหว่างวันที่ 21 พ.ค.2564 ถึงวันที่ 17 เม.ย.2566 เป็นต้น

หนึ่งในกลุ่มผู้เสียหายจากกรณีดังกล่าว อายุ 45 ปี เปิดเผยว่าเราคือกลุ่มผู้เสียหายจากหุ้นกู้ STARK จำนวนหนึ่งจากทั้งหมดกว่า 4,500 ราย วงเงินความเสียหายกว่า 9,000 ล้านบาท บมจ.สตาร์ค ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับสายไฟ สายเคเบิ้ลออกหุ้นกู้ โดยทำงบบัญชีปลอม ซึ่งพบทีหลังและเอาเงินจากพวกเราไปซื้อบริษัทที่เยอรมัน เมื่อรวบรวมทุนจากหุ้นกู้ได้กว่า 10,000 ล้านบาท ก็ล้มทั้งยืน ได้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษต่อทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ.) โดยรองประธานบริษัทแจ้งว่าบริษัทได้รับความเสียหายเกิดจากการทุจริตในบริษัท

เราต้องการแจ้งความเอาผิดผู้บริหารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของบริษัทสตาร์คฯ โดยมีหลักฐานตามที่นายศรัทธา อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท สตาร์คฯ ให้สัมภาษณ์สื่อฯ ยอมรับตกแต่งบัญชีปลอมด้วยเหตุผลสร้างราคาหุ้น เพื่อให้ผู้ถือหุ้นใหญ่ได้รับผลประโยชน์ประมาณ 10,000 ล้านบาท ได้มีการสร้างข่าวในองค์กรว่ามีการไปติดต่อรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่งที่เรียกว่า “ปลาวาฬ” เพื่อจะเอาไปตกปลาวาฬตัวใหญ่ ซึ่งทีแรกจะซื้อสตาร์ค แต่ไหวตัวทัน ไม่ได้ซื้อ ทำให้สตาร์คต้องหาเงินเอง เนื่องจากการลงทุนที่เวียดนามเกิดปัญหา ซื้อโรงงานผลิตไฟฟ้าที่นั่นมีราคาสูงเกิน ทำให้ธุรกิจไม่ดี จำเป็นต้องหาเงินมาหมุน เพื่อให้บริษัทสตาร์ค เดินไปต่อได้ จึงมีการตกแต่งบัญชีปลอมตั้งแต่ปี 2563 ได้กำไรจากราคาหุ้นก็ไปหลอกธนาคาร 2 แห่ง จากนั้นออกหุ้นกู้หลอกผู้ถือหุ้น 5 รุ่น มูลค่ากว่า 9,200 ล้านบาท ผู้เสียหายที่มาแจ้งความ ปอศ.วันนี้อยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้ เบื้องต้น ผกก.3 บก.ปอศ.ให้พนักงานสอบสวนรับเรื่องเสนอผู้บังคับบัญชาพิจารณาสั่งการต่อไป.

พ.ต.อ.ธีรภาส กล่าวว่า ได้ชี้แจงให้กับผู้ที่เข้ามาร้องทุกข์เก่าโทษได้รับทราบ ซึ่งกรณีนี้ในเบื้องต้นทราบว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว อย่างไรก็ตามตนได้รับหนังสือร้องเรียนไว้เพื่อนำเรียนผู้บังคับบัญชาพิจารณาต่อไป

ขณะที่ ล่าสุด พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีหุ้น STARK เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) ได้ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 2 ราย ได้แก่ นายชนินทร์ เย็นสุดใจ อดีตประธานกรรมการบริษัท โดยให้เข้ารับทราบข้อหาวันที่ 6 ก.ค.นี้ เวลา 10.30 น. และนายศรัทธา จันทรเศรษฐเลิศ อดีตกรรมการ โดยให้เข้ารับทราบข้อหาวันที่ 7 ก.ค. เวลา 09.30 น.ที่กองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน ในฐานความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

เนื่องจากพยานหลักฐานและคำให้การของพยานบุคคล พบว่า ทั้งคู่มีพฤติการณ์ตกแต่งบัญชี และได้รับผลประโยชน์จากเรื่องดังกล่าว แต่หากทั้งคู่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาก็เป็นสิทธิ์ที่กระทำได้ ทั้งนี้ดีเอสไอยังเดินหน้าเร่งตรวจสอบพยานหลักฐาน เพื่อออกหมายเรียกบุคคลอื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป ส่วนข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ว่า นายศรัทธาได้ส่งหนังสือชี้แจงกับดีเอสไอนั้น พ.ต.ต.ยุทธนากล่าวว่า ยืนยันยังไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว นอกจากนี้ ได้รับทราบข้อมูลว่า นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ค ได้ประสานมายังดีเอสไอว่า จะเข้าพบคณะพนักงานสอบสวน วันที่ 5 ก.ค.นี้ โดยจะเป็นตัวแทนของบริษัทร้องทุกข์กล่าวโทษบุคคลเพิ่มเติม แต่ตนยังไม่ได้ตอบรับนัดหมายอย่างเป็นทางการ

ด้านนางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA ) กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้มีการประสานงาน และหารือร่วมกับก.ล.ต.และตลท. บริษัทจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง และผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ซึ่งขณะนี้ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงหรือเพิ่มเติม เครื่องหมายแจ้งเตือน (Event Sing Bond) ให้สามารถส่งสัญญาณเตือนหรือสื่อสารกับนักลงทุนได้ชัดเจนมากขึ้น และประสานขอข้อมูลต่างๆ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเปิดเผยข้อมูลในเว็บไซต์ของสมาคมฯเพื่อแจ้งให้นักลงทุนรับทราบได้อย่างรวดเร็ว ช่วยเพิ่มความระมัดระวังให้นักลงทุน มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนได้อย่างถูกต้อง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ คณะกรรมการ (บอร์ด) กำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และบอร์ดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ยังไม่ได้รายงานความคืบหน้าปัญหา STARK ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้บอร์ดตลท.และก.ล.ต.ไปหารือถึงแนวทางการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดกรณีการสร้างบัญชีเทียมในบริษัทจดทะเบียนเหมือนกับกรณีของ STARK

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นกับ STARK เนื่องจากระบบการกำกับดูแลของตลท.และก.ล.ต.ถือว่า มีช่องโหว่หรือไม่นั้น มองว่าเรื่องนี้มีหลายส่วน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบด้วย ที่ตรวจสอบไม่เจอ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ และรวมถึงเรื่องของคุณภาพของผู้ตรวจสอบ ก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมาย ให้ตรวจสอบเอาผิดหน่วยตรวจสอบด้วย จะต้องมีการทำโทษทั้งตัวบุคคลและบริษัท