มว.คลังชี้สามารถกู้ชดเชยเพื่อแก้ขาดดุลปีงบ 64 ได้

531
0
Share:

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายให้กรมสรรพากร ว่า รัฐบาลยังคงเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2564 ไว้เท่าเดิม ที่ 2.085 ล้านล้านบาท แม้ว่าท้ายที่สุดอาจจะไม่ได้ตามเป้าหมาย แต่ก็ไม่มีปัญหา เพราะว่างบประมาณ 2564 เป็นงบประมาณแบบขาดดุล ซึ่งสามารถกู้ชดเชยเพื่อการขาดดุลเพิ่มเติมได้ หากรายจ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งในปีงบประมาณ 2563 กระทรวงการคลังก็ได้ดำเนินการในลักษณะนี้มาแล้ว
.
โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปประเมินการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2564 ว่าจะต่ำกว่าเป้าหมายเท่าไหร่ และให้ไปดูตัวเลขรายจ่ายที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในโครงการดูแลช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกร สำหรับข้าว และยางพาราไปแล้ว และหลังจากนี้จะมีพืชอื่น ๆ ตามมาอีก ซึ่งถือเป็นรายจ่ายของรัฐบาลที่จะเพิ่มขึ้น เพื่อจะได้มาประเมินว่าในปีงบประมาณ 2564 จะมีรายได้เพียงพอหรือไม่ และต้องกู้เพิ่มเติมอีกจำนวนเท่าไหร่
.
โดยยืนยันว่ารายจ่ายของรัฐบาลจะไม่ช็อตแน่นอน
.
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายปี 2564 วงเงิน 3.3 ล้านล้านบาท เป็นงบประมาณแบบขาดดุล 6.32 แสนล้านบาท โดยหากจะมีการกู้เงินกรณีรายจ่ายมากกว่ารายได้ รัฐบาลจะสามารถกู้ได้ประมาณ 1 แสนล้านบาท เพราะกฎหมาย กำหนดว่ากระทรวงการคลังสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณได้ 20% ของงบประมาณรายจ่าย บวกกับ 80% ของต้นเงินชำระคืนเงินกู้ ซึ่งจะอยู่ที่วงเงินประมาณ 7.36 แสนล้านบาท
.
ส่วนเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น กระทรวงการคลังได้มีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. กำชับให้ดูแลนโยบายการเงินให้สอดคล้องกับนโยบายการคลัง แม้ว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นแล้ว มีการติดลบน้อยกว่าที่เคยคาดการณ์ แต่มาตรการด้านการเงินและการคลังต่าง ๆ ก็ยังมีความสำคัญ ทั้งเรื่องการช่วยเหลือเอสเอ็มอี การลดอัตราดอกเบี้ย และการบริหารอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อช่วยเหลือภาคการส่งออก
.
โดยมอบนโยบายให้กรมสรรพากร ใน 3 เรื่องสำคัญ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาต่อเนื่องอยู่แล้ว ได้แก่
.
1. การขยายฐานภาษีให้เพิ่มขึ้น โดยการชักชวนให้ผู้ที่อยู่นอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีบุคคลธรรมดาอยู่ในระบบภาษี 9 ล้านคน และมีผู้เสียภาษีจริง 3 ล้านคน และเป็นผู้อยู่นอกระบบภาษีอีก 6 ล้านคน การขยายฐานภาษีถือว่ามีความสำคัญเพราะว่าการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรคิดเป็น 70% ของรายได้ทั้งหมดของประเทศ นอกจากนี้ให้มีการขยายฐานภาษีนิติบุคคลด้วย
.
2. เพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บ โดยให้นำเทคโนโลยีไปสู่การเก็บภาษีด้วยระบบดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งกรมสรรพากรให้ความสำคัญเรื่องนี้และดำเนินการมาโดยตลอดอยู่แล้ว
.
3. การปรับโครงสร้างภาษี ได้ขอให้กรมสรรพากรช่วยพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อรองรับเศรษฐกิจและภาคธุรกิจหลังโควิด-19 โดยให้ประสานกับกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ สนับสนุนธุรกิจใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านดิจิทัล ออนไลน์