มหาดไทยประกาศภาษีที่ดินปี 67 เก็บอัตราเดิม อยู่อาศัย 0.02-0.1% การเกษตร 0.01-0.1%

302
0
Share:
มหาดไทยประกาศ ภาษีที่ดิน ปี 67 เก็บอัตราเดิม อยู่อาศัย 0.02-0.1% การเกษตร 0.01-0.1%

กระทรวงมหาดไทยได้ออกแนวทางซักซ้อมการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2567 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปปฏิบัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยกำหนดอัตราที่จะจัดเก็บให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปีภาษี 2565 ได้แก่ ที่ดินเกษตรกรรมจัดเก็บ 0.01-0.1% ที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยจัดเก็บ 0.02-0.1% ที่ดินอื่นๆ เช่น การพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม จัดเก็บ 0.3-0.7% และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์จัดเก็บ 0.3-0.7% พร้อมขยายเวลาการจัดเก็บออกไปอีก 2 เดือน จากเดิมกำหนดชำระภายในเดือนเมษายนเป็นเดือนมิถุนายน 2567 แต่ยังไม่มีสัญญาณจากรัฐบาล ว่าสุดท้ายจะลดหย่อนอัตราจัดเก็บให้เหมือนปีที่ผ่านมาหรือไม่

ก่อนหน้านั้น 7 องค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่ตบเท้าเข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา โดยยื่นข้อเสนอ 8 ประเด็น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หนึ่งในนั้น เป็นประเด็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยขอให้รัฐบาลพิจารณาส่วนลดให้เป็นระยะเวลา 1 ปี ในอัตรา 50% ในปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงขอให้แก้ไขอัตราที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ระหว่างการพัฒนาหรือสร้างเสร็จของโครงการที่ยังไม่ได้ขาย และการบริการสาธารณะในโครงการจัดสรร เช่น สโมสร สระว่ายน้ำ คลับเฮาส์ จากกำหนดให้เป็นประเภทอื่นๆ เป็นประเภทที่อยู่อาศัย

สำหรับภาคเกษตรกรรมซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เขตเมือง หรือบริเวณซึ่งราคาประเมินที่ดินสูง แต่ยังคงประกอบการเกษตรกรรม ขอให้พิจารณาหลักเกณฑ์กำหนดเพดานการชำระภาษี หรือกำหนดอัตราภาษีต่อไร่ สูงสุดไม่เกินเท่าใด สำหรับกรณีที่เป็นมรดกตกทอดมา หรือซื้อมาเพื่อทำเกษตรก่อนมี พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เกษตรกรสามารถรับภาระภาษีได้ และไม่เป็นแรงกดดันที่จะต้องขายที่ดินออกไป ทั้งยังปรับสภาพแวดล้อมที่ดินในเขตเมือง แต่หากมีการเปลี่ยนมือไป ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ผู้ซื้อที่ดินใหม่ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาษีในอัตราปกติ

นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวว่าที่ผ่านมาภาครัฐมีมาตรการให้ความช่วยเหลือลดผลกระทบหลายด้านที่เป็นประโยชน์ แต่การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยังคงส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนในหลายด้าน ซึ่งยังคงรอความชัดเจนจากรัฐบาลต่อไป