มั่นใจว่าคุ้ม! “สุริยะ” เล็งเปิดประมูล “แลนด์บริดจ์” กว่า 5.2 แสนล้านบาท ในปี 2567

192
0
Share:

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยอันดามัน (ชุมพรระนอง) หรือแลนด์บริดจ์ วงเงินโครงการ 1 ล้านล้านบาท อาจจะไม่คุ้มค่าในการลงทุนว่า โครงการ แลนด์บริดจ์นั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีการศึกษารายละเอียด รวมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างๆ ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น มีความเป็นไปได้ในทางที่ดี ทางกระทรวงคมนาคมได้มีการพูดคุยกับภาคเอกชนแล้วบางส่วนทั้งนักลงทุนสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และซาอุดิอาระเบีย โดยผลการตอบรับทั้งนักลงทุนและสายการเดินเรือต่างประเทศต่างก็ให้ความสนใจ

ขณะนี้ สนข.ดำเนินการศึกษาคืบหน้าไปแล้วกว่า 99% คาดว่าภายในปี 2567 นี้ ผลการศึกษาจะแล้วเสร็จและพร้อมเปิดประมูลเฟสที่ 1/1 ที่มีมูลค่ารวม 522,844.08 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างท่าเรือ 2 ฝั่ง(จ ชุมพร และจ.ระนอง) มูลค่ารวม 260,235.51 ล้านบาท แบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 118,519.50 ล้านบาท รองรับ 4 ล้านทีอียู ก่อสร้างท่าเรือฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 141,716.02 ล้านบาท รองรับ 6 ล้านทีอียู, พื้นที่เปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้า (SRTO) มูลค่ารวม 60,892.56 ล้านบาท แบ่งเป็น พื้นที่ฝั่งชุมพร มูลค่าลงทุน 38,113.45 ล้านบาท พื้นที่ฝั่งระนอง มูลค่าลงทุน 22,779.11 ล้านบาท และเส้นทางเชื่อมโยง มูลค่ารวม 201,716 ล้านบาท ประกอบด้วย มอเตอร์เวย์ขนาด 4 ช่องจราจร และรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร และขนาด 1.435 เมตร

อย่างไรก็ตามยืนยันว่า โครงการนี้ภาครัฐจะออกค่าใช้จ่ายเฉพาะการเวนคืนเท่านั้น ส่วนการลงทุนอื่นๆ ทางเอกชนจะเป็นผู้ลงทุน หากไปรับฟังมาแล้ว เอกชนยืนยันว่าจะลงทุน คิดว่าในการลงทุนขนาดใหญ่แบบนี้ ในสายตาเอกชนจะต้องมองเห็นอย่างแน่นอนว่า โครงการนี้คุ้มทุนและส่วนตัวก็เชื่อมั่นว่า ทางเอกชนที่เคยโรดโชว์จะเข้ามาลงทุน

อย่างไรก็ตาม ผมขอขอบคุณความเห็นจากหลายๆ ภาคส่วนที่ให้ความห่วงใยโครงการนี้ แต่สุดท้ายความคุ้มค่าของโครงการนี้ จะอยู่ที่เอกชนว่าจะลงทุนตั้งแต่เฟสแรกซึ่งมีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท ผมเชื่อว่านักลงทุน จะพิจารณาอย่างดี พอไปรับฟังความเห็นเอกชนทั้งหมดแล้ว ก็จะมาสู่การออกกฎหมายคือ ร่างพระราชบัญญัติ (...) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (... SEC) เพราะกฎหมายนี้จะช่วยให้อำนวยความสะดวกในบางประเด็นได้ เช่น การกำหนดอายุสัมปทาน 50 ปี เหมือนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)”