มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผล

1008
0
Share:

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป สถาบันเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า เป็นมาตรการชั่วคราวที่เน้นภาคการบริโภคและการท่องเที่ยว รวมถึงเป็นมาตรการสูตรเดิมๆที่เคยทำมาก่อนหน้านี้อาจช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนได้บ้างและไม่น่าจะได้ผลมากนัก เพราะเศรษฐกิจไทยมีโครงสร้างผูกขาดสูง ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกระจุกตัว โครงสร้างเศรษฐกิจพึ่งพาภายนอกสูง จึงต้องแก้ไขโดยลดอำนาจผูกขาดและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้พึ่งพาตลาดภายในมากขึ้น
.
โดยโครงการปล่อยกู้ให้เกษตรกรและแจกเงินเพื่อลดต้นทุนการผลิตผ่านธนาคารเฉพาะกิจของรัฐประมาณ 200,000 ล้านบาท , มาตรการเพิ่มเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 300-500 บาท มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และปล่อยกู้ธุรกิจรายเล็ก มาตรการเหล่านี้อาจบรรเทาผลกระทบชะลอตัวเศรษฐกิจได้บ้าง แต่หากเศรษฐกิจไม่เติบโตตามเป้าและมีหนี้เสียเกิดขึ้นจากโครงการปล่อยกู้ ก็จะเกิดภาระผูกพันต่อหนี้สาธารณะในอนาคต
.
ส่วนมาตรการแจกเงิน 1,000 บาท ที่มีเป้าหมายไว้ที่ 10 ล้านคนสำหรับการท่องเที่ยวเมืองรอง หากมีคนมาลงทะเบียนตามเป้าหมายจริง รัฐบาลจะใช้งบประมาณ10,000 ล้านบาท สำหรับมาตรการนี้มองว่าอาจบรรเทาความเดือดร้อนได้บ้างแต่ไม่ยั่งยืน เป็นการกระตุ้นอุปสงค์ระยะสั้น ไม่ได้เพิ่มรายได้ระยะยาว ไม่ได้เพิ่มผลิตภาพหรือโอกาสในการจ้างงานและทำให้เกิดข้อจำกัดเรื่องฐานะทางการคลังมากขึ้น
.
แต่มาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศนั้นยอมรับว่าเป็นมาตรการที่ดีและจะมีความยั่งยืนกว่ามาตรการอื่นๆ และน่าจะเพิ่มผลิตภาพของทุน ได้ระดับหนึ่ง โดยสัดส่วนของภาคการลงทุนต่อจีดีพีของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 24% แบ่งเป็น 18% เป็นการลงทุนภาคเอกชน และอีก 6% เป็นการลงทุนของภาครัฐ ดังนั้นการจะฟื้นเศรษฐกิจด้วยกำลังซื้อภายในต้องกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชนและการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 51% ของจีดีพี