มิชลินรีดไขมันสุดซอย ปิด 3 โรงงานผลิตยางในเยอรมนี พนักงานกว่า 1,500 ส่อตกงาน

451
0
Share:
มิชลิน รีดไขมันสุดซอย ปิดโรงงาน ผลิตยางใน เยอรมนี พนักงานกว่า 1,500 ส่อตกงาน

มิชลิน (Michelin) ยักษ์ใหญ่ผลิตยางรถยนต์ชื่อดังระดับโลกจากประเทศฝรั่งเศส เปิดเผยว่า เตรียมปิดโรงงานผลิตยางรถยนต์ทั้ง 3 แห่งในประเทศเยอรมนี ซึ่งอยู่ที่เมืองฮอมบวร์ก (Homburg) เมืองเทรียร์ (Trier) และเมืองคาร์ลสรู (Karlsruhe) ภายในสิ้นปี 2025 หรืออีก 2 ปีจากนี้ไป ส่งผลให้พนักงานของมิชลินในทั้ง 3 เมือง มีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,532 รายต้องตกงาน โดยในปัจจุบันนี้ มิชลินมีการจ้างงานมากกว่า 8,000 คน กระจายในประเทศเยอรมนี ออสเตรีย และสวิสเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ มิชลินเตรียมย้ายศูนย์บริการลูกค้าไปยังประเทศโปแลนด์ด้วย

สาเหตุจากความสามารถในการแข่งขันของโรงงานผลิตยางรถยนต์มิชลินในประเทศเยอรมนีตกต่ำถึงขั้นไม่สามารถแข่งขันในตลาดยุโรป และตลาดส่งออกไปยังต่างประเทศได้อีกต่อไป นอกจากนี้ การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นอย่างรุนแรงในตลาดยางรถบรรทุกต้นทุนต่ำ สำหรับการปิดโรงงานทั้ง 3 แห่งในประเทศเยอรมนี และปลดพนักงานด้วยนั้น จะทำให้มิชลินประหยัดค่าใช้จ่ายได้ถึง 425 ล้านยูโร หรือ 465.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 16,760 ล้านบาท

เมื่อ 1 เดือนผ่านมา มิชลินเปิดเผยว่าเตรียมทยอยลดกำลังการผลิตยางรถยนต์ที่โรงงานอาร์ดมอร์ รัฐโอกลาโฮมา สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้พนักงานจำนวนมากถึง 1,400 คนตกงานภายใน 2 ปีจากนี้ไป หรือภายในปี 2025 โรงงานดังกล่าวก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1970 หรือเมื่อ 53 ปีผ่านมา

สาเหตุจากต้นทุนในการผลิตยางที่โรงงานดังกล่าวในปัจจุบันไม่สามารถแข่งขันอีกต่อไปได้ ทำให้มิชลินต้องตัดลดค่าใช้จ่ายทั้งด้านการผลิตและการปลดพนักงาน โดยการปลดพนักงานในรอบแรกจะมีขึ้นในช่วงกลางปี 2024 และพนักงานที่เหลือจากการปลดออกในรอบแรก จะถูกปลดออกภายในสิ้นปี 2025 ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการระบุจำนวนพนักงานที่จะถูกปลดออกในแต่ละรอบอย่างชัดเจน

สำหรับการผลิตยางที่ลดลงจากโรงงานแห่งนี้ จะถูกถ่ายโอนไปยังโรงงานมิชลินในแห่งอื่นที่ตั้งอยู่ในอเมริกาเหนือ อย่างไรก็ตามในส่วนสายการผลิตการผสมน้ำยางจะยังคงอยู่ที่เดิม

ในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2022 มิชลิน ประกาศปลดพนักงาน 1,600 คน ซึ่งเป็นตัวเลขพนักงานที่เข้าข่ายปลดออกลดต่ำจากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมกราคมปี 2021 ที่ประกาศว่าจะปลดพนักงานมากถึง 2,300 คนในช่วงระยะเวลา 3 ปี

สาเหตุจากเป็นเวลานานถึง 2 ปีกว่าที่วงการอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สงครามรัสเซียกับยูเครน การขาดแคลนชิ้นส่วนและวัตถุดิบ รวมถึงปัญหาคอขวดโลจิสติกส์