ยอดคนไทยแห่เปิดบริษัททัวร์พุ่งกว่า 500 แห่ง พุ่งเฉียด 170%

296
0
Share:

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ระยะเวลา 7 เดือนแรกของปี 2565 หรือมกราคม–กรกฎาคม พบว่า มีการจดทะเบียนตั้งธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางของไทยจำนวน 549 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปี 2564 จำนวน 345 ราย หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 169.12

ขณะที่ ทุนจดทะเบียนของบริษัทประเภทดังกล่าวมีจำนวน 988.53 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 685.20 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 225.90 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2564 ที่มีจำนวนจัดตั้ง 204 ราย และทุนจดทะเบียน 303.33 ล้านบาท ตามลำดับ

ข้อมูลถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 พบว่า ธุรกิจนำเที่ยวและสำรองการเดินทางที่ดำเนินกิจการในไทยมีจำนวน 11,891 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.40 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 43,008.12 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.21 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศไทย นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 5,278 ราย (ร้อยละ 44.39) ทุนจดทะเบียนรวม 23,176.56 ล้านบาท (ร้อยละ 53.89)

รองลงมา คือ ภาคใต้ จำนวน 2,748 ราย (ร้อยละ 23.11) ภาคกลาง 1,461 ราย (ร้อยละ 12.29) ภาคตะวันออก 1,024 ราย (ร้อยละ 8.61) ภาคเหนือ 784 ราย (ร้อยละ 6.59) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 401 ราย (ร้อยละ 3.37) และ ภาคตะวันตก 195 ราย (ร้อยละ 1.64)

ด้านภาพรวมของการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว ยังพบว่า นักลงทุนชาวไทยครองอันดับ 1 มูลค่าทุน 37,484.90 ล้านบาท (ร้อยละ 87.16) รองลงมา คือ ชาวจีน ทุน 1,115.67 ล้านบาท (ร้อยละ 2.59) ชาวเกาหลีใต้ ทุน 528.45 ล้านบาท (ร้อยละ 1.23) ชาวอินเดีย ทุน 445.10 ล้านบาท (ร้อยละ 1.03) และสัญชาติอื่น ๆ ทุน 3,434.00 ล้านบาท (ร้อยละ 7.99)

ภาพรวมผลประกอบการปี 2563-2564 มีแนวโน้มรายได้ปรับตัวลดลง โดยรายได้รวม ปี 2562 มีจำนวน 123,788.53 ล้านบาท ปี 2563 จำนวน 36,619.46 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 70.42 จากปีก่อน ปี 2564 มีรายได้รวม 14,251.94 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 61.08 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งการลดลงของผลประกอบการเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ