ยักษ์ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์แมคบุ๊คให้แอปเปิลย้ายฐานผลิต สร้างโรงงานใหม่ในเวียดนาม

222
0
Share:
ยักษ์ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์แมคบุ๊คให้แอปเปิลย้ายฐานผลิต สร้างโรงงานใหม่ใน เวียดนาม ลงทุน

กลุ่มอุตสาหกรรมประเภทบริษัทผู้รับจ้างผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อป้อน ให้แก่บริษัทผู้ว่าจ้างที่เป็นเจ้าของยี่ห้อสินค้า หรือที่เรียกกันว่าอุตสาหกรรมอีเอ็มเอส หรือ Electronics Manufacturing Services จากประเทศญี่ปุ่น ได้ตัดสินใจชะลอการลงทุนในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่อย่างต่อเนื่อง และโยกย้ายการลงทุนรวมถึงย้ายฐานการผลิตออกนอกจีนแผ่นดินใหญ่จำนวนมาก หนึ่งในเป้าหมายคือภูมิภาคอาเซียน โดยมีเวียดนามอยู่ในลำดับต้นๆของโรงงานแห่งใหม่ของอุตสาหกรรมประเภทอีเอ็มเอสของญี่ปุ่น

ควอนต้า คอมพิวเตอร์ (Quanta) ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ประเภทแล็บท็อปรายใหญ่ที่สุดในโลกให้กับเครื่องแมคบุ๊คของบริษัทแอปเปิล อินคอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ได้เดินหน้าแผนการลงทุนด้วยการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม ตามที่ได้ประกาศข่าวไปเมื่อเดือนเมษายนปีนี้ โดยมีความคืบหน้ามากขึ้น

เมโกะ อิเลคทรอนิกส์ เป็นอีกหนึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์สัญชาติญี่ปุ่น ที่ผลิตแผงวงใจไฟฟ้า จะสร้างโรงงานแห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะเริ่มการผลิตในปี 2025 เพื่อผลิตแผงวงใจไฟฟ้าใช้ในรถยนต์ นายยูอิชิโร นายา ประธานบริษัทเมโกะ อิเลคทรอนิกส์ กล่าวว่า ลูกค้าของบริษัทร้องขอให้ผลิตสินค้านอกประเทศจีนแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ธุรกิจญี่ปุ่นขนาดใหญ่จำนวนมากจะโยกย้ายการผลิตในห่วงโซ่การผลิตของตนเองออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ผู้ผลิตสัญชาติญี่ปุ่นส่วนใหญ่ยังคงมีฐานตลาดอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ สาเหตุจากผลตอบแทนจากการลงทุนที่ยังมีอยู่สูง ข้อมูลจากองค์กรการค้าระหว่างประเทศญี่ปุ่น หรือเจอีทีโอ (JETO) พบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนทางตรงในภาพรวมของบริษัทญี่ปุ่นในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ที่ 15.1% เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2021 ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนจากการลงทุนทางตรงโดยเฉลี่ยในต่างประเทศไม่รวมจีนแผ่นดินใหญ่และญี่ปุ่นที่ระดับ 6.9% ที่สำคัญ อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนดังกล่าวยังสูงกว่าผลตอบแทนการลงทุนทางตรงในไทยที่ระดับ 10.4% และ 4.2% ในสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การลงทุนทางตรง หรือเอฟดีไอของญี่ปุ่นในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ลดลงต่อเนื่อง โดยลดลงมากถึง -5.7% ในปีงบประมาณ 2022 การลงทุนทางตรงที่ลดลงอย่างมากดังกล่าวสะท้อนถึงปัญหาของจีนแผ่นดินใหญ่เกี่ยวกับปัญหาทางโครงสร้างหลายอย่าง เช่น ค่าจ้างแรงงานที่มีค่าใช้จ่ายสูง และปัญหาความตึงเครียดด้านการเมืองระหว่างประเทศระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับสหรัฐอเมริกา