ยุคหนี้หยุดไม่อยู่! หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงรอบ 18 ปี กว่า 14 ล้านล้านบาท

1178
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เงินให้กู้ยืมกับภาคครัวเรือนไทยในไตรมาส 4 ปี 2563 ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า หนี้ครัวเรือนของไทยปิดสิ้นปีที่ผ่านไป มีมูลค่าหนี้ครัวเรือน 14 ล้านล้านบาท ไม่เพียงทำสถิติมูลค่าหนี้ครัวเรือนสูงสุดครั้งใหม่ แต่ยังเป็นหนี้ที่มากที่สุดในรอบ 18 ปี หรือตั้งแต่มีการเก็บรวบรวมสถิติหนี้ครัวเรือนของธนาคารแห่งประเทศไทย ผลพวงจากมูลค่าหนี้พุ่งสูงถึง 14 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้ครัวเรือนคนไทยคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 89.3% เมื่อเทียบกับจีดีพีในปี 2563

.

หากพิจารณาในรายละเอียดต่อไป จะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนยังเติบโตต่อเนื่อ งแม้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัวลงจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ หนี้ครัวเรือนไทยพุ่งทะยานถึง 3 ปีติดต่อกัน เริ่มจากปี 2561 หนี้ดังกล่าวแตะ 78.4% ต่อจีดีพี และขยับเป็น 79.8% ต่อจีดีพีในปี 2562 จนกระทั่งในปี 2563 หนี้ครัวเรือนทะยานเป็น 89.3% ของจีดีพีไทย ที่น่าสนใจ คือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจากปี 2562 เทียบกับปี 2563 พุ่งทะยานมากถึง 10% ภายใน 12 เดือน

.

อย่างไรก็ดี หากมองในแง่มุมอัตราการเติบโตของมูลหนี้ จะพบว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในปี 2563 เพิ่มขึ้น 3.9% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ต่ำที่สุดในรอบ 4 ปี นอกจากนี้ ยังชะลอลงจากที่เคยเติบโต 5.1% ในปี 2562 นั่นหมายความว่า ทั้งผู้กู้และผู้ปล่อยกู้ต่างก็เพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักลงจากผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ในปี 2563

ขณะที่ข้อมูลสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยในช่วงเดือนมีนาคม 2564 สะท้อนว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด 19 ทำให้กระแสรายได้และสถานะทางการเงินของครัวเรือนบางกลุ่มย่ำแย่ลง ซึ่งตอกย้ำวังวนปัญหาหนี้เพิ่มเร็วกว่ารายได้

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยต่อไปว่า เงินกู้ภาคครัวเรือนที่ยังเติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจได้นั้น สะท้อนสถานะของผู้กู้และวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างผู้กู้ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแรกเป็นการกู้ยืมของครัวเรือนเพื่อนำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ ที่อยู่อาศัย และรถยนต์ ซึ่งอาจจะมองได้ว่าหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นของผู้กู้ในส่วนนี้สะท้อนภาพของครัวเรือนที่ยอมเป็นหนี้เพื่อแลกกับความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ในอนาคต กลุ่มบุคคลในกลุ่มแรกนี้น่าจะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อปานกลางค่อนไปทางสูง และรายได้ไม่ได้ถูกกระทบมากจากสถานการณ์โควิด

.

กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีความจำเป็นต้องก่อหนี้ หรือกู้ยืมเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เสริมสภาพคล่อง และ/หรือ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้กู้หรือครัวเรือนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน และสถานะทางการเงินอ่อนแอลงตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำย่ำแย่

ขณะที่หนี้ครัวเรือนในส่วนอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นเพื่อการอุปโภคบริโภคหรือใช้จ่ายในชีวิตประวันก็มีทิศทางขยับขึ้นท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ซบเซาของเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลทำให้ครัวเรือนหลายส่วนต้องรัดเข็มขัด และบริหารกระแสรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือนให้มีความสมดุล นอกจากนี้ ภาระหนี้สินและเงินออมของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ ถดถอยลงมากจากผลกระทบของวิกฤตโรคระบาดโควิด-19

.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทำการสำรวจภาวะหนี้สินและการออมของประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลในเดือนมีนาคม 2564 พบว่า วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สร้างแรงกดดันต่อครัวเรือนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ (ขอสินเชื่อในนามบุคคลเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับภาคธุรกิจ) และกลุ่มที่มีปัญหาด้านรายได้ (สถานะของการทำงานและชั่วโมงการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไป เช่น โดนลดชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้าง และเงินเดือน) ซึ่งผู้กู้ทั้ง 2 กลุ่มนี้อาจต้องเผชิญกับแรงกดดันจาก 2 โจทย์สำคัญที่หนักกว่ากลุ่มอื่นๆ

.

โจทย์แรก หรือปัญหาเฉพาะหน้าในเรื่องความสามารถในการชำระคืนหนี้ และ/หรือ มีช่องว่างในการก่อหนี้ก้อนใหม่ลดลง และโจทย์สุดท้าย หรือปัญหาระยะยาวเกิดขึ้นจากสถานการณ์รายได้ที่ไม่แน่นอน-ผันแปรตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลกระทบต่อเนื่องไปยังระดับเงินออมของครัวเรือนให้ลดต่ำลง ซึ่งภาคครัวเรือนอาจต้องกลับมาให้ความสำคัญกับปัญหานี้มาขึ้นหลังจากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 สิ้นสุดลง

.

นอกจากนี้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้หลายกลุ่ม เกิดตกต่ำลงจากผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ ผลสำรวจดังกล่าว พบว่าผลกระทบของโรคระบาดโควิด-19 ทำให้กลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้ มี “ภาระหนี้” หรือ Debt Service Ratio (DSR) สูงกว่าผู้กู้ในกลุ่มอื่นๆ

โดยค่าชี้วัด DSR ของผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจอยู่ที่ 44.1% ของรายได้ต่อเดือนในช่วงต้นปี 2564 ส่วน DSR ของผู้กู้รายย่อยที่มีปัญหาด้านรายได้อยู่ที่ 43.8% ซึ่งภาระหนี้ของผู้กู้ทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวนี้ อยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ภาพรวมของผู้ตอบแบบสอบถามในผลสำรวจฯ รอบนี้ซึ่งอยู่ที่ 42.8% ของรายได้ต่อเดือน

.

อย่างไรก็ดีคงต้องยอมรับว่า วิกฤตโควิด 19 ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงในวงกว้างต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน ก็ทำให้ DSR ภาพรวมในปี 2564 ขยับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับ DSR ที่ 39.4% ในปี 2562 ที่ไม่มีโควิด 19 ซึ่งสะท้อนกว่า สถานะทางการเงินของประชาชนค่อนข้างตึงตัวมากขึ้น และสถานการณ์รายได้ของประชาชนหลายกลุ่มเริ่มจะไม่สัมพันธ์กับหนี้สินที่ต้องแบกรับภาระ

ปัจจัยอันตรายต่อมาจากการสำรวจ พบว่าความสามารถในการผ่อนชำระคืนหนี้ในอนาคตนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ หรือกว่า 75% ของผลสำรวจดังกล่าวแสดงความกังวล เนื่องจากยังคงมีประเด็นรายได้ที่ไม่แน่นอน (45.3% ของผู้ตอบ) และค่าครองชีพและภาระหนี้เพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้ (41.4%) รวมถึงการที่ภาระผ่อนหนี้หลังมาตรการเยอะและนานขึ้น (12.7%) ซึ่งตอกย้ำว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการฟื้นตัวของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนในระยะที่เหลือของปี

.

ปัจจัยด้านการออมเงินของภาคครัวเรือนไทยลดต่ำลง หากเปรียบเทียบมุมการออมภาคครัวเรือนต่อรายได้จากผลสำรวจในปี 2564 (ถูกกระทบจากโรคระบาดโควิด-19) กับการออมภาคครัวเรือนในปี 2562 (ปีที่ไม่ยังเกิดโรคระบาดโควิด-19) จะพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วสัดส่วนเงินออมต่อรายได้ของครัวเรือนไทย ลดลงประมาณ 3.6% จากที่มีสัดส่วนเงินออมประมาณ 16.1% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2562 ลดลงมาอยู่ที่ 12.5% ของรายได้ต่อเดือนในปี 2564

.

ปัญหาสำคัญอยู่ที่กลุ่มผู้กู้รายย่อยที่ประกอบธุรกิจ และกลุ่มที่มีปัญหาด้านรายได้ จะพบว่า สถานการณ์เงินออมเฉลี่ยของ 2 กลุ่มนี้ย่ำแย่กว่าภาพรวมชัดเจน โดยมีเงินออมเพียง 11.7% และ 10.8% ของรายได้ต่อเดือนตามลำดับ นอกจากนี้ หากพิจารณาเฉพาะประชาชนที่มีเงินออมในผลสำรวจในปี 2564 จะพบว่า มีประชาชนเพียง 38.9% จากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เป็นผู้ที่มีเงินออม แต่ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีเงินออมไม่สูงมาก โดยหากพิจารณาเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีเงินออมในผลสำรวจ พบว่า มีเพียง 46.2% เท่านั้น ที่มีเงินออมสะสมเพียงพอสามารถรองรับค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 3 เดือน (ในกรณีที่ขาดรายได้ หรือตกงานทันที) ซึ่งสถานการณ์เงินออมจากผลสำรวจในรอบนี้ ย่ำแย่ลงกว่าผลสำรวจเมื่อปี 2562 อย่างชัดเจน