รถไฟฟ้าสายสีแดงเล็งผุดฟีดเดอร์อีก 5 เส้นทาง เพิ่มความสะดวกผู้โดยสารเข้าสู่สถานี

185
0
Share:
รถไฟฟ้าสายสีแดง

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบนโยบายให้พัฒนาระบบฟีดเดอร์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่บริการรถไฟฟ้า ได้อย่างครอบคลุม เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ซึ่ง รฟฟท.มีการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษา และออกแบบจัดทำโครงการเชื่อมต่อการเดินทางเพื่อเพิ่มการเข้าถึง (Feeder) เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการ สามารถเดินทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงได้อย่างสะดวก โดยปัจจุบันมีฟีดเดอร์เป็นระบบรถไฟทางไกลจากนครปฐมธนบุรี ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ณ สถานีชุมทางตลิ่งชัน มายังสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ได้สะดวก และรวดเร็ว

ฟีดเดอร์เส้นทางสถานีหลักหก (สายสีแดง)-.รังสิต ซึ่งมหาวิทยาลัยรังสิตได้จัดรถสองแถวให้บริการฟรีรับส่งนักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป และยังมีแผนการดำเนินงานระบบฟีดเดอร์ สนับสนุนการเดินทางด้วยระบบการขนส่งรอง เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเพิ่มอีก 5 เส้นทาง ดังนี้

1. สถานีตลิ่งชันถนนบรมราชชนนี

2. สถานีตลิ่งชันบางหว้า

3. สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตลาดนัดจตุจักร

4. สถานีหลักสี่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ

5. สถานีรังสิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต

ทั้งนี้ รฟฟท.จะเดินหน้าพัฒนาการเดินทางระบบการขนส่งรองด้วยระบบ Feeder อย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง ทั้ง 13 สถานี ได้อย่างสะดวก และปลอดภัย

สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ รฟฟท. ภายใต้สัญญารับจ้างเดินรถสายสีแดงกับ รฟท. เป็นสัญญารายปี ทำให้พนักงาน รฟฟท. ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสิทธิภาพในการเดินรถและซ่อมบำรุง ไม่มีความมั่นคง ไม่จูงใจต่อการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่สำคัญไว้ได้นั้น มอบหมายให้ ขร. และ รฟท. ศึกษารูปแบบการบริหารจัดการเดินรถไฟฟ้าของรถไฟฟ้าสายสีอื่นๆ พิจารณาข้อดีข้อเสีย รวมทั้งจุดอ่อนจุดแข็งโอกาสทางธุรกิจ เพื่อนำเสนอรัฐบาลในการพัฒนาและขับเคลื่อนองค์กรต่อไป

นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ได้เน้นย้ำหลักการ “Smile Service and Safety for Railway” คือ การให้บริการด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยรอยยิ้ม สร้างความสุขให้แก่ผู้ใช้บริการ เอาใจใส่ผู้ใช้บริการทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รวมถึงมีการพัฒนามาตรฐานงานบริการ ควบคู่กับความปลอดภัยตามมาตรฐานระดับสากล

รฟฟท.มีแผนการติดตั้งระบบตรวจวัดอัจฉริยะแบบฝังตัวในขบวนรถไฟฟ้าเพื่อการบำรุงรักษาแบบแม่นยำสำหรับทางวิ่งและระบบไฟฟ้า (Embedded Smart Monitoring and Diagnostic System in On-Service Train for Predictive Maintenance of Redline Track and OCS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่มีความทันสมัย ซึ่งร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยมีการฝังอุปกรณ์ตรวจวัดไว้ภายในขบวนรถไฟฟ้าที่ให้บริการ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลด้านการสั่นสะเทือนของตัวรถ และนำมาเป็นข้อมูลสำหรับวางแผนการซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทันท่วงที ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเชื่อมั่นได้ว่ารถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงมีระบบการควบคุมการเดินรถที่มีความปลอดภัย ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมขององค์กร ที่มุ่งเน้นเรื่องการเดินรถไฟฟ้าที่มีความปลอดภัยในระดับสูงสุด

อีกทั้ง รฟฟท.ยังได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษาโครงการ “Station Accessibility Development” เป็นการวางแนวทางการรองรับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และการรองรับสังคมผู้สูงวัยที่กำลังจะเกิดขึ้น ตลอดจนกลุ่มผู้พิการที่ควรให้การดูแลเป็นพิเศษ และมุ่งแก้ไขในการรับมือกับปัญหาที่ส่งผลเสียต่อผู้โดยสารจากการขาดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบโครงสร้างของสถานี และจำนวนผู้โดยสาร ที่เข้าใช้บริการจากภาพเคลื่อนไหวของกล้องวงจรปิดอัจฉริยะ ซึ่งมุ่งเน้นไปที่การดูแลผู้พิการตลอดการเดินทาง เพื่อสร้างประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการเดินทาง พร้อมเสนอข้อแนะนำในการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีสายสีแดง สำหรับผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นให้มีศักยภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย