รฟม.ยันไม่เวนคืนวิหาร-เจดีย์เก่า วัดเอี่ยมวรนุช เพื่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้

876
0
Share:

ภายหลังจากเฟซบุ๊ก วัดเอี่ยมวรนุช ได้โพสต์ภาพและข้อความ “เศร้าสลด หดหู่ ปิดตำนาน วิหารหลวงปู่ทวดและโบราณสถานของวัดเอี่ยมฯ 237 ปีแลกกับสถานีรถไฟฟ้าบางขุนพรหม เมื่อรถไฟฟ้ามา วัดวาก็ถูกทุบทำลาย”
.
โดยให้ข้อมูลว่า วัดโดนเวนคืนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างเพื่อสร้างรถไฟฟ้า ปัจจุบัน วัดเนื้อที่เล็กมากเพียง 2 ไร่กว่า แทบไม่มีพื้นที่จัดกิจกรรม ต้องโดนเฉือนออกไป ตั้งแต่กำแพงวัด ซุ้มประตู ศาลา ทั้ง 2 หลังด้านหน้าวัด เจดีย์ขาว อายุเกือบร้อยปี และวิหารหลวงปู่ทวด รวมถึงผลประโยชน์ของวัด ที่เป็นร้านอาหารข้างๆ และลานหน้าวัด ทำให้เจ้าอาวาสรู้สึกช็อก เพราะตอนที่มาคุยตอนแรก ไม่เป็นเช่นนี้
.
หลังจากเรื่องราวถูกเผยแพร่ออกไป ชาวบางขุนพรหม และผู้คนในโลกโซเชียลแสดงความไม่พอใจที่โบราณสถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์จะต้องถูกทุบทำลายไป
.
สำหรับ วัดเอี่ยมวรนุช เป็นวัดราษฎร์ อยู่แขวงบ้านพานถม เขตพระนคร ตั้งเมื่อ พ.ศ.2327 วัดท้องคุ้ง ต่อมาปลัดนุชบูรณสังขรณ์ ชาวบ้านจึงเรียกว่า วัดปลัดนุช ในสมัยรัชกาลที่ 5 ยายเอี่ยมได้สร้างพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระราชดำรัสให้มีชื่อผู้สร้างร่วมด้วย จึงชื่อ วัดเอี่ยมวรนุช ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2490
.
ล่าสุด นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้ใช้เฟซบุ๊ก Sorapong Paitoonphong เข้ามาคอมเมนต์ในเพจของวัด ระบุว่า “ผมได้ตรวจสอบจาก รฟม. แล้วว่า พื้นที่ก่อสร้างจะไม่กระทบวิหารหลวงปู่ทวดครับ และ กระทรวงคมนาคมจะได้มอบหมายให้ รฟม. ลดผลกระทบให้มากที่สุดครับ
.
ด้านการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ขอเรียนชี้แจงว่า ในขั้นตอนการสำรวจดังกล่าว เป็นเพียงการดำเนินการสำรวจแนวเขตทาง (Right of way) ในเบื้องต้นเท่านั้น โดยในการก่อสร้างสถานีดังกล่าว จะมีตำแหน่งทางขึ้น – ลง 4 ตำแหน่ง ดังนี้
.
(1) ตำแหน่งทางขึ้น – ลง หมายเลข 1 ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัดเอี่ยมวรนุช ใกล้สี่แยกวิสุทธิกษัตริย์
.
(2) ตำแหน่งทางขึ้น – ลง หมายเลข 2 ตั้งอยู่บริเวณปั๊ม ปตท. ตรงข้ามวัดสามพระยา
.
(3) ตำแหน่งทางขึ้น – ลง หมายเลข 3 ตั้งอยู่บริเวณโรงพิมพ์ศรีหงส์
.
(4) ตำแหน่งทางขึ้น – ลง หมายเลข 4 ตั้งอยู่บริเวณธนาคารแห่งประเทศไทย ถนนวิสุทธิกษัตริย์
.
จากการตรวจสอบ รฟม. ขอยืนยันว่า จะไม่มีการเวนคืนส่วนที่เป็นวิหารและเจดีย์เก่าของวัดเอี่ยมวรนุชตามที่ปรากฏในข่าว ทั้งนี้ รฟม. ได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้องของวัดเอี่ยมวรนุชแล้ว และในต้นสัปดาห์หน้า รฟม. พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ จะเข้าชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดกับทางวัดต่อไป
.
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ รฟม.สำรวจเวนคืนที่ดินไปแล้ว กว่า 102 ไร่ รวม 410 แปลง และบ้านอีก 264 หลัง ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้าง ภายในเดือนสิงหาคมนี้ และใช้ระยะเวลาก่อสร้างราว 6 ปี