รมว.คลังประสานแบงก์ชาติกำชับแบงก์พาณิชย์ตรึงดอกเบี้ยให้นานที่สุด

284
0
Share:

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พรุ่งนี้ (11 ส.ค.) มาตรการบรรเทาภาระประชาชนในส่วนของกระทรวงการคลังได้มีแพ็กเกจออกมาทั้งหมดแล้ว และมีเรื่องการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าที่ต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมส่วนโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ก็กำหนดชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มใช้จ่ายในวันที่ 1 ก.ย.-31 ต.ค.65

ส่วนการพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมวันนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผยว่า ได้คุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าเมื่อนโยบายการเงินหรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความเคลื่อนไหว ก็ขอให้สื่อสารกับธนาคารพาณิชย์อย่างชัดเจน ส่วนสถาบันการเงินของรัฐนั้น กระทรวงการคลังจะรับหน้าที่สื่อสารเอง โดยในส่วนสถาบันการเงินของรัฐ หากดอกเบี้ยขึ้นก็จะพยายามตรึงไว้ให้ได้นานที่สุด

“แต่ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ก็ขอฝากผู้ว่าการ ธปท.ให้ช่วยสื่อสาร ที่ผ่านมาในการปรับอัตราดอกเบี้ยแต่ละครั้ง จะใช้ระยะเวลาในการส่งผ่านนโยบายไปที่สถาบันการเงิน อาจจะใช้เวลา 3-6 เดือน กรณีดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้ก็อาจจะขึ้นเร็วกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก ก็ขอให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ขอความร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์ เพราะหากขยับดอกเบี้ยเร็วเกินไป ก็จะกระทบกับเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว หรือการขยายสินเชื่อก็อาจจะชะลอลงได้ ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์จึงต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบด้วย” นายอาคม กล่าว

นายอาคม เผยด้วยว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ในช่วงโควิด ไม่ได้มีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยลดต้นทุนของภาคธุรกิจ แต่เมื่อโควิดคลี่คลายลง ธุรกิจเริ่มเดินได้ เครื่องมือการเงินและการคลัง ก็ต้องกลับมาใช้เครื่องมือในภาวะปกติ เช่น การจัดหารายได้ภาครัฐในการขยายฐานรายได้ การส่งเสริมการส่งออก ส่วนภาคการเงิน เครื่องมือที่สำคัญ คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น เมื่อเข้าสู่ภาวะปกติ เครื่องมือก็ต้องทำงานจริงๆ แล้วต้องดูเหตุผลของการปรับดอกเบี้ย หาก ธปท.ปรับขึ้นก็ต้องดูเหตุผล และต้องพิจารณาชั่งน้ำหนักในหลายมิติ ทั้งภาพรวมและระยะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเคลื่อนย้ายเงินทุน และเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม มีหลายฝ่ายมองว่า ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของไทยกับสหรัฐฯ ในปัจจุบันค่อนข้างกว้างมาก ซึ่งอาจต้องลดช่องตรงนี้ลงไปบ้าง เพื่อรักษาในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุน อย่างไรก็ตาม เงินที่ไหลออกก็ยังไม่มาก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของไทยนั้นยังดีอยู่

อย่างไรก็ดี เงินบาทที่แข็งค่า จะส่งผลดีกับการนำเข้าน้ำมัน ทำให้นำเข้าได้ในราคาที่ถูกลง แต่ก็ยังไม่สามารถปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศลงได้ เพราะขณะนี้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังติดลบอยู่กว่า 1 แสนล้านบาท การตรึงราคาขายในปัจจุบันเป็นการช่วยเหลือสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯ หากในอนาคตราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น กองทุนน้ำมันฯ ก็จะมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะเข้าไปรองรับการชดเชยราคาขายปลีกในประเทศ