รัฐบาลคาดใช้เงินดูแลพลังงานรอบใหม่ พ.ค.-ส.ค. ถึง 45,000 ล้านบาท คนไทยได้ประโยชน์

385
0
Share:

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมแถลงมาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชน โดยระบุว่า ตามที่ ครม.เห็นชอบ 10 มาตรการดูแลค่าครองชีพ เดือน พ.ค.-ส.ค.65 คาดว่าจะใช้เม็ดเงินดูแลรวมๆ ประมาณ 4.3-4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากรวมกับเม็ดเงินที่ดูแลราคาพลังงานมาตั้งแต่ช่วงโควิด-19 เมื่อปี 2563 อีก 1.64 แสนล้านบาท ก็จะอุดหนุนพลังงานรวม 2-2.1 แสนล้านบาท เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นเรื่องที่เหนือการคาดการณ์ ทำให้รัฐบาลต้องปรับแผนการดูแลราคาพลังงานที่เปลี่ยนแปลงไป ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และภาระการเงินของประเทศ โดยเฉพาะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ไม่สามารถแบกรับภาระดูแลเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา โดยล่าสุดเงินกองทุนฯ ติดลบกว่า 3 หมื่นล้านบาทแล้ว

สำหรับแผนงานการดูแลพลังงานรอบใหม่ เช่น

– ราคาดีเซลจะตรึงไว้ที่ 30 บาท/ลิตร จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. และตั้งแต่ 1 พ.ค. หากราคาเกิน 30 บาท ทางด้านกองทุนน้ำมันฯ จะเข้ามาดูแลครึ่งหนึ่ง เรียกว่า “คนละครึ่ง” เช่น หากต้นทุนที่แท้จริงอยู่ที่ 38 บาท ราคาดีเซลก็จะอยู่ที่ 34 บาท/ลิตร เป็นต้น

– ก๊าซหุงต้มจะทยอยขยับราคา กก.ละ 1 บาท/เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. ราคาขยับจาก 363 บาท/ถัง ขนาด 15 กก. ในวันนี้เป็น 363 บาท/ถัง ในเดือน มิ.ย. ซึ่งหากราคาต้นทุนสูงกว่านี้ เงินกองทุนน้ำมันฯ ยังคงดูแลอยู่ เช่น ในปัจจุบันราคาที่แท้จริงอยู่ที่ 463 บาท/ถัง หากเดือน มิ.ย. ยังอยู่ในราคานี้ ทางกองทุนฯ ก็จะเข้าดูแลราว 100 บาท/ถัง ซึ่งที่ผ่านมาช่วง 2 ปี จากที่รัฐกำหนดราคาแอลพีจีอยู่ที่ 318 บาท/ถัง เงินกองทุนน้ำมันฯ ต้องเข้าไปดูแลราคากว่า 2.8 หมื่นล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในส่วนนี้จะยังคงดูแลผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยให้เงินซื้อก๊าซฯ ขยับขึ้นจาก 45 บาท เป็น 100 บาท/ถัง ในช่วง 3 เดือน โดยใช้งบกลางสนับสนุน 200 ล้านบาท ในขณะเดียวกัน บมจ.ปตท. ยังช่วยเยียวยาในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่เข้าร่วมโครงการของ ปตท. อีก 5,500 ราย ลดราคา 100 บาท/คน/เดือน ตั้งแต่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.

-มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก 1.57 แสนคน ได้รับส่วนลดราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน 5 บาท/ลิตร รวม 250 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ใช้งบกลางสนับสนุน

-เอ็นจีวี ปตท.สนับสนุนคงราคา 15.59 บาท/กก. และช่วยสนับสนุนแท็กซี่ในโครงการลมหายใจเดียวกัน ได้ราคาพิเศษ 13.62 บาท/กก. ตั้งแต่ 15 มี.ค.-15 มิ.ย.

-ส่วนกรณีการอุดหนุนค่าไฟฟ้า สำหรับประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน  300 หน่วย/เดือน จะได้ประโยชน์ราว 20 ล้านราย โดยเดือน พ.ค.-ส.ค. จะตรึงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ไม่ขยับขึ้น ประชาชนจ่ายค่าเอฟทีเท่ากับงวด ม.ค.-เม.ย. ที่ 1.39 สตางค์/หน่วย ทำให้จ่ายค่าไฟฟ้าเมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานเพียง 3.78 บาท/หน่วย จากอัตราที่แท้จริงอยู่ที่ 4 บาท/หน่วย ในส่วนวงเงินเข้ามาช่วยเหลือก็จะเป็นงบกลาง

อย่างไรก็ตาม หากคำนวณค่าไฟฟ้าที่จะขยับขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว ในงวด พ.ค.-ส.ค. ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยของประเทศจะอยู่ที่ 5 บาท/หน่วย ไม่ใช่ 4 บาท/หน่วย โดยในเงินส่วนนี้ ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะเข้ามาร่วมรับผิดชอบให้ก่อนราว 4.4 หมื่นล้านบาท

สำหรับมาตรการทั้ง 10 ข้อ ที่รวมกับเงินด้านประกันสังคมนั้น ทางกระทรวงการคลัง ระบุว่า จะเกิดประโยชน์กับประชาชนรวม 40 ล้านคน และเงินช่วยเหลือเหล่านี้ก็เป็นที่คาดหวังว่า แม่ค้าพ่อค้า และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง จะไม่ขึ้นค่าสินค้าและบริการต่างๆ โดยแหล่งที่ขอเงินช่วยเหลือ ซึ่งรวมทั้งโครงการที่ผ่านๆ มา จะอยู่ที่ประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท แยกเป็นเงินกู้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 39,520 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 50 เงินสมทุบกองทุนประกันสังคม 33,857 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 43 งบกลาง 3,740 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 5 และงบฯ จาก ปตท. 1,763 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2