รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เดินหน้าแก้กฎหมาย ส.ป.ก. หวังปลดล็อคปัญหาที่ดินเกษตรกรรม

168
0
Share:
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร เดินหน้าแก้ กฎหมาย ส.ป.ก. หวังปลดล็อคปัญหาที่ดินเกษตรกรรม

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าของการเปลี่ยนที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 4-01 เป็นโฉนด ว่าการเปลี่ยนแปลง ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ในการเข้าถึงทรัพยากรที่ดิน เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ง่ายขึ้น รวมทั้งเป็นการปลดล็อคปัญหาการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยเฉพาะเรื่องการบุกรุกที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินของนายทุน

โดยเบื้องต้นการห้ามซื้อขายที่ดิน ส.ป.ก. ทำให้ราคาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินต่ำกว่าราคาซื้อขายทั่วไป ส่งผลให้นายทุนสามารถซื้อที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเป็นจำนวนมากได้ แต่เมื่อ ส.ป.ก.เปิดโอกาสให้ที่ดินสามารถเปลี่ยนมือได้อย่างถูกกฎหมาย ราคาซื้อขายที่ดินฯ จะเป็นไปตามราคากลไกทางการตลาด ซึ่งจะช่วยให้การกว้านซื้อที่ดินลดลง
ร.อ.ธรรมนัส กล่าวอีกว่า ส่วนความกังวลเรื่องการกว้านซื้อเพื่อนำไปรวมเป็นพื้นที่แปลงใหญ่นั้น กฎหมายระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า 1 คน สามารถถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ได้สูงสุด 50 ไร่ หากมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 1 คน ไม่สามารถทำได้ ติดด้วยข้อกฎหมายนอมินี ซึ่งเรื่องนี้จะมีการระบุในเรื่องของข้อกฎหมายปีกย่อยด้วย

“ก่อนหน้านี้ ได้มีการให้การบ้าน ส.ป.ก.แต่ละจังหวัดไปจัดทำข้อสรุปเกี่ยวกับการถือครองสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่กว่า 22 ล้านไร่ ว่ามีการลักลอบซื้อขาย เปลี่ยนมือ หรือมีที่ดินที่ไม่มีผู้มารับมรดกถือครองอยู่จำนวนเท่าใด และมีการใช้ประโยชน์ในที่ดินถูกต้องหรือไม่ หากพบว่ามีการซื้อขายฯ ต้องนำกลับเข้ามาอยู่กองกลาง ก่อนที่จะนำไปจัดสรรให้เกษตรกร โดยในวันที่ 24 ตุลาคมนี้ ส.ป.ก.ทั่วประเทศจะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมารายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) รับทราบต่อไป ก่อนจะประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงฯ ภายใต้ พ.ร.บ.ส.ป.ก.ฯ ซึ่งมั่นใจว่าจะเห็นเป็นรูปธรรมในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 นี้แน่นอน” ร.อ.ธรรมนัส กล่าว

ส่วนเรื่องมูลค่าที่ดิน นั้น เดิมตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินไม่สามารถเปลี่ยนมือไปสู่บุคคลอื่นนอกเหนือจากทายาทได้จึงทำให้ที่ดินดังกล่าวมีมูลค่าน้อย ดังนั้น การทำให้ที่ดินสามารถเปลี่ยนมือได้ ย่อมทำให้ที่ดินนั้นมีมูลค่าสูงขึ้น แม้ว่าการเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะทำให้ที่ดินฯ สามารถเปลี่ยนมือได้ แต่ ส.ป.ก. ยังคงทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนเพื่อควบคุม กำกับ และจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรรายใหม่เช่นเดิม ภายใต้เจตนารมณ์ฯ คือการจัดสรรที่ดินต้องทำเกษตรกรรมและการเปลี่ยนมือสามารถดำเนินการระหว่างเกษตรกรกับเกษตรกรเท่านั้น

ขณะที่เรื่องการใช้โฉนด ส.ป.ก. ในการค้ำประกันกับสถาบันการเงินอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันการเงินของรัฐ นั้น เดิมที่ดินส.ป.ก.ฯ สามารถขอยื่นกู้เงินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เพียงสถาบันเดียว แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นโฉนดแล้วจะทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น โดยหลังจากนี้ ส.ป.ก. จะมีการลงนามบันทึกข้อตกลง (เอ็มโอยู) ร่วมกับสถาบันธนาคาร เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการขอกู้เงินร่วมกันต่อไป