ราคาน้ำมันดิบปรับลดลง จากความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

247
0
Share:
ราคา น้ำมันดิบ ปรับลดลง จากความกังวลการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับตัวลดลง หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ขอรับสิทธิประโยชน์จากการว่างงานเพิ่มขึ้น 21,000 ราย สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และสูงสุดในรอบ 10 สัปดาห์ สู่ระดับ 211,000 อย่างไรก็ตาม ที่ระดับดังกล่าวยังถือว่าตลาดแรงงานยังตึงตัว และอาจกระตุ้นให้ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ปรับดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นเพื่อสะกัดปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจชะลอตัวและความต้องการใช้น้ำมัน

โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 9 มี.ค. 2566 อยู่ที่ 75.72 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.94 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 81.59 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -1.07 เหรียญสหรัฐ

การซื้อขายตลาดน้ำมันยังคงได้รับแรงกดดันจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เร่งปรับอัตราดอกเบี้ย ตามที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ได้แถลงไว้ ในการประชุมทั้ง 2 วันที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ตลาดจับตาอัตราว่างงานของสหรัฐที่จะประกาศในคืนนี้ (10 มี.ค.) ซึ่งคาดว่าอาจไม่ได้ปรับลดลงต่อเนื่อง และยังยืนที่ระดับเดิมที่ 3.4% ซึ่งอาจชะลอการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้

บริษัท TotalEnergies ของฝรั่งเศส ระบุว่าไม่สามารถขนส่งน้ำมันจากโรงกลั่นในวันพฤหัสบดี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงของแรงงานฝรั่งเศสในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

โดยราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังสต๊อกน้ำมันเบนซินของสหรัฐ สัปดาห์ที่แล้วลดลง 1.1 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 238.1 ล้านบาร์เรล ขณะที่โรงกลั่นฯ ในเกาหลีใต้มีแผนการปิดซ่อมบำรุงระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. 66 ซึ่งอาจส่งผลต่ออุปทานน้ำมันเบนซินตึงตัว

ส่วนราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในอินโดนีเซียที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการปรับมาตรการการใช้ส่วนผสมไบโอดีเซลจาก B30 เป็น B35 ตั้งแต่เดือน ม.ค. 66 อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น