ราคาน้ำมันดิบร่วงกว่า 1 ดอลลาร์ฉุดหลุด 80 ดอลลาร์ แต่ยังมีราคาแพงสุดใน 2 เดือนครึ่ง

120
0
Share:
ราคา น้ำมันดิบ ร่วงกว่า 1 ดอลลาร์ฉุดหลุด 80 ดอลลาร์ แต่ยังมีราคาแพงสุดใน 2 เดือนครึ่ง

ตลาดซื้อขายน้ำมันดิบนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2023 ตามเวลาในสหรัฐอเมริกา พบว่า ราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ นิวยอร์ก สหรัฐ ปิดที่ 75.42 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -1.47 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.9% ยังคงมีสถิติใกล้เคียงราคาปิดสูงสุดในรอบ 9 สัปดาห์ หรือนับตั้งแต่ 26 เมษายนผ่านมา

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มีราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ สหรัฐอเมริกา พุ่งขึ้นสูงสุดที่ 130.50 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ทำสถิติราคาน้ำมันดิบไนเม็กซ์ที่สูงสุดนับตั้งแต่กันยายน 2008 หรือในรอบ 13 ปี 5 เดือน

ด้านราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ ทะเลเหนือ ปิดที่ 79.87 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล -1.49 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หรือ -1.8% ยังคงมีสถิติใกล้เคียงราคาปิดสูงสุดในรอบ 2 เดือนครึ่ง หรือนับตั้งแต่ 25 เมษายนผ่านมา

ในปี 2022 ผ่านไปราคาน้ำมันดิบเบร็นท์ อังกฤษ มีราคาสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2008 หรือในรอบ 13 ปี 7 เดือน โดยเมื่อคืนวันจันทร์ที่ 7 มีนาคม 2565 มีขึ้นมาสูงสุดระหว่างวันที่ระดับ 139.13 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

ในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทั้ง 2 แห่ง ปรับเพิ่มขึ้น 2%

สาเหตุจากนักลงทุนทำกำไรราคาน้ำมันดิบตลาดคที่ปรับสูงขึ้นถึง 3 วันติดต่อกัน นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพลิกแข็งค่าขึ้นหลังจากร่วงอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 2 เดือน หรือนับตั้งแต่เมษายนผ่านมา

อย่างไรก็ตาม สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือไออีเอ เปิดเผยว่าในครึ่งปีหลังนี้ ภาวะตลาดน้ำมันดิบโลกจะตึงตัว สาเหตุจากความต้องการใช้น้ำมันดิบของจีนแผ่นดินใหญ่

ปัจจัยภาวะสต๊อกน้ำมันดิบทั่วโลกตึงตัวจากการที่กลุ่มโอเปกพลัสนำโดยซาอุดีอาระเบียประกาศลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจถึงวันละ 1 ล้านบาร์เรลเพิ่มเติมในเดือนสิงหาคมหลังจากเริ่มต้นลดกำลังการผลิตวันละ 1 ล้านบาร์เรลในเดือนนี้เป็นเดือนแรก สอดคล้องกับรองนายกรัฐมนตรี รัสเซีย กล่าวว่า จะลดปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบไปตลาดโลกวันละ 500,000 บาร์เรล มีผลในเดือนสิงหาคมนี้ ปริมาณดังกล่าวเท่ากับ 1.5% ของปริมาณซัพพลายน้ำมันดิบตลาดโลก รวมถึงอัลจีเรียประกาศลดปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบไปตลาดโลกวันละ 20,000 บาร์เรล มีผลในเดือนสิงหาคมด้วย

หากซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และอัลจีเรีย ลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบตามที่ประกาศไว้ในเดือนหน้าเต็มรูปแบบ ทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบลดลงถึงวันละ 5.35 ล้านบาร์เรล และอาจเป็นไปได้ที่จะลดลงมากกว่าตัวเลขดังกล่าว เนื่องจากประเทศสมาชิกหลายแห่งในกลุ่มโอเปกพลัสยังไม่สามารถผลิตน้ำมันดิบได้ตามโควต้าการผลิตที่กำหนดไว้

ขณะนี้ การลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัสที่เริ่มต้นในเดือนนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำมันดิบลดลงมากกว่าวันละ 5 ล้านบาร์เรล หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณผลิตน้ำมันดิบทั่วโลก