รายงานธุรกิจระหว่างประเทศเตือนไทยระวังความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นอุปสรรค

126
0
Share:
รายงานธุรกิจระหว่างประเทศเตือน ไทย ระวังความไม่แน่นอนทาง เศรษฐกิจ การเมือง ที่เป็นอุปสรรค

แกรนท์ ธอนตัน บริษัทให้บริการที่ปรึกษาการลงทุนชื่อดังระดับโลก เปิดเผยรายงานธุรกิจระหว่างประเทศ หรือ International Business Report ในช่วงครึ่งแรกประจำปี 2566 พบว่าปัจจุบันคะแนนสถานะทางธุรกิจของภูมิภาคอาเซียนคิดเป็น 9.9% ในขณะที่ประเทศไทยมีคะแนนดังกล่าวคิดเป็น 14.3% ซึ่งจัดอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยม โดยคะแนนสถานะสุขภาพทางธุรกิจของประเทศไทยเพิ่มขึ้นถึง 5.5% จากช่วงเวลาก่อนหน้านี้ สะท้อนให้เห็นถึงบรรยากาศการลงทุนที่ดีขึ้น สภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้น และภาพรวมทางธุรกิจที่เป็นเชิงบวกสูงขึ้นอย่างมากตามข้อมูลที่ระบุไว้ในรายงานดังกล่าว

ขณะเดียวกัน ธุรกิจขนาดกลางในประเทศไทยพบว่าข้อจำกัดด้านการผลิตและด้านความต้องการที่เป็นอุปสรรคอย่างชัดเจนได้ลดลงกว่าเมื่อ 6 เดือนก่อนหน้านี้ โดยเพิ่มขึ้นเพียง 2% และ 6% ตามลำดับ สาเหตุมาจากการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่คาดหวังการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในช่วง 12 เดือนข้างหน้านั้นมีแนวโน้มสัดส่วนลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี โดยในครึ่งแรกของปี 2565 คิดเป็น 64% ลดลงเป็น 54% ในครึ่งหลังของปี 2565 และลดลงเหลือ 46% ในครึ่งแรกของปี 2566 นั่นทำให้คะแนนการส่งออกของประเทศอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าทั้งค่าเฉลี่ยของภูมิภาคและทั่วโลก

มุมมองเกี่ยวกับรายได้ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นจาก 64% ในปีที่แล้วมาเป็น 73% ในปัจจุบันความคาดหวังในการทำกำไรสูงขึ้นจาก 68% เป็น 82% รวมถึงภาพรวมทางธุรกิจที่เป็นเชิงบวกเพิ่มขึ้นจาก 58% เป็น 72% ส่วนคะแนนการจ้างงานเพิ่มจากเดิม 36% เป็น 52% เช่นเดียวกันกับการลงทุนด้านไอทีเพิ่มจาก 49% เป็น 60% อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่สูงขึ้นของประเทศเพื่อนบ้านของไทย ทำให้ค่าเฉลี่ยคะแนนของอาเซียนยังคงสูงกว่าคะแนนของประเทศไทยในด้านต่างๆ

ปัจจัยที่คะแนนรายได้ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นมาจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดสภาพคล่องที่ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้แม้จะไม่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นก็ตาม นอกจากนี้ การบริโภคของภาคเอกชนในประเทศไทยซึ่งได้รับแรงหนุนจากชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการลงทุนในอุตสาหกรรม S-curve และโครงการสำคัญๆ เช่น โครงการ One Bangkok การขยายสนามบินอู่ตะเภา และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนเช่นกัน ซึ่งจะทำให้รายได้ของประเทศไทยก็เพิ่มขึ้นจาก 64% ในปีที่แล้วมาเป็น 73%

อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยรวมยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยบ่อยที่สุด โดยมีคะแนนรวมอยู่ที่ 50% ซึ่งแย่กว่าช่วงก่อนหน้าเล็กน้อย ความไม่แน่นอนทางการเมืองน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ควบคู่ไปกับแรงกดดันทางการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นอาจช่วยขจัดความไม่แน่นอนบางประการได้

ทั้งนี้ ข้อจำกัดอื่นที่ส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจขนาดกลางในประเทศไทย ได้แก่ ต้นทุนพลังงาน (44%) และกฎระเบียบต่างๆ (32%) สิ่งที่น่ากังวลน้อยกว่า คือความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะ (24%) ตัวบ่งชี้อุปสรรคเหล่านี้ควรเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ของประเทศไปสู่สังคมผู้สูงอายุยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว