ลอยกระทงไม่หลงทาง! ขนส่งทางรางเผยประชาชนใช้บริการรถไฟฟ้าวันลอยกระทงทะลุ 1,466,357 คน

280
0
Share:
ลอยกระทงไม่หลงทาง! ขนส่งทางราง เผยประชาชนใช้บริการ รถไฟฟ้า วันลอยกระทง ทะลุ 1,466,357 คน

ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่าวันลอยกระทงเมื่อวานนี้ มีประชาชนใช้บริการระบบราง รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,466,357 คน-เที่ยว ซึ่งมีจำนวนมากกว่าวันลอยกระทงปี 2564 ที่มีคนใช้บริการอยู่ที่ จำนวน 808,736 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้น 657,621 คน-เที่ยว หรือร้อยละ 81.31 แบ่งเป็น รถไฟระหว่างเมืองของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 60,188 คน-เที่ยว และรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,406,169 คน-เที่ยว

โดยเป็นการใช้บริการรถไฟของ รฟท. มีผู้ใช้บริการจำนวน 60,188 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2564 ที่มีผู้ใช้บริการอยู่ที่ 27,483 คน-เที่ยว มากขึ้น 32,705 คน-เที่ยว เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า หรือร้อยละ 119 แบ่งเป็นผู้โดยสารเชิงพาณิชย์ 18,176 คน-เที่ยว และเชิงสังคม 42,012 คน-เที่ยว จากการให้บริการรวมจำนวน 223 เที่ยว

ส่วนระบบรถไฟฟ้า ให้บริการรวม 2,406 เที่ยววิ่ง มีผู้ใช้บริการรวมจำนวน 1,406,169 คน-เที่ยว มากกว่าวันลอยกระทงปี 2564 ที่ผ่านมา ที่มีผู้ใช้บริการรวม 781,253 คน-เที่ยว หรือเพิ่มขึ้น 624,916 คน-เที่ยว หรือร้อยละ 79.99 โดยผู้ให้บริการได้เพิ่มความถี่ในชั่วโมงเร่งด่วน และเพิ่มขบวนรถเสริมอีก 34 เที่ยววิ่ง ประกอบด้วย
รถไฟฟ้า Airport Rail Link ให้บริการ 222 เที่ยววิ่ง (รวมเสริม 7 เที่ยววิ่ง) จำนวน 65,354 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้าชานเมือง (สายสีแดง) ให้บริการ 230 เที่ยว จำนวน 19,535 คน-เที่ยว
รถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สีม่วง) 321 เที่ยว (รวมเสริม 5 เที่ยววิ่ง) จำนวน 47,367 คน-เที่ยว
รถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล (สีน้ำเงิน) 474 เที่ยว (รวมเสริม 14 เที่ยววิ่ง) จำนวน 378,750 คน-เที่ยว

รถไฟฟ้าบีทีเอส (สีเขียวและสีทอง) ให้บริการรวม 1,159 เที่ยว (รวมเสริมสายสุขุมวิท 8 เที่ยววิ่ง) มีผู้ใช้บริการจำนวน 895,163 คน-เที่ยว (สีเขียว 878,761 คน-เที่ยว และสายสีทอง 16,402 คน-เที่ยว)

จากเทศกาลลอยกระทงปี 2565 ทำให้มีผู้ใช้บริการระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสมากสุด (นิวไฮ) ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 รวมทั้งมีผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีทองเพิ่มขึ้นกว่าถึงปกติสามเท่า จากเฉลี่ยมีผู้ใช้บริการสายสีทองวันละ 4,772 คน-เที่ยว) โดยกรมการขนส่งทางรางได้ประสานผู้ให้บริการระบบรางบริหารจัดการจำนวนผู้โดยสารบนสถานีรถไฟฟ้า (Crowd Control) เพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการระบบราง ทั้งนี้การให้บริการในระบบขนส่งทางรางเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่เกิดอุบัติเหตุทางรถไฟและไม่มีเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องจากการให้บริการ