ลุยลงทุน! บริษัทร่วมทุน GULF-จีน เซ็นสัญญาขายไฟฟ้า กฟผ. ระยะเวลานาน 29 ปี

332
0
Share:
ลุย ลงทุน ! บริษัทร่วมทุน GULF -จีน เซ็นสัญญา ขายไฟฟ้า กฟผ. ระยะเวลานาน 29 ปี

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า จากกรณีบริษัทฯ และ China Datang Overseas Investment Co., Ltd. (CDTO) ภายใต้เครือของ China Datang Corporation Ltd. เป็นรัฐวิสาหกิจและบริษัทพลังงานของสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Pak Beng (โครงการ Pak Beng) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่บนแม่น้ำโขง เมืองปากแบ่ง แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และจะทำการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมดให้แก่ กฟผ. นั้น

ล่าสุด เมื่อ 13 ก.ย. 66 Pak Beng Power Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง GULF และ CDTO ในสัดส่วน 49% และ 51% ตามลำดับ เพื่อดำเนินโครงการ Pak Beng ได้เข้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. เป็นที่เรียบร้อย โดยสัญญาดังกล่าวมีระยะเวลา 29 ปี นับจากวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ และมีอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.7129 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการ Pak Beng มีมูลค่าการลงทุน 100,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาเงินกู้กับสถาบันการเงิน โดยคาดว่าจะสามารถปิดการจัดหาเงินกู้ได้ภายในปลายปี 67 และใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 8 ปี โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2576

สำหรับโครงการ Pak Beng เป็นโครงการที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลและสภาแห่งชาติสปป.ลาว ซึ่งได้ลงนามสัญญาสัมปทาน กับรัฐบาลสปป.ลาว เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา

ภายใต้ MOU ประเทศไทยจะซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้นในสปป.ลาว และเชื่อมโยงผ่านระบบส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกรอบปริมาณความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าจำนวน 10,500 เมกะวัตต์ มีโครงการที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 5,935 เมกะวัตต์ จำนวน 11 โครงการ โครงการที่ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแล้ว 3,060 เมกะวัตต์ จำนวน 3 โครงการ และโครงการที่ลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าแล้ว 815 เมกะวัตต์ จำนวน 2 โครงการ

โครงการ Pak Beng เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี ไม่มีการกักเก็บน้ำในรูปแบบของเขื่อนประเภทอ่างเก็บน้ำ และไม่มีการเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง จึงไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งโครงการ Pak Beng ได้รับความเห็นชอบผลการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงเรื่องการระบายตะกอน ทางผ่านปลา การโยกย้ายถิ่นฐานของชุมชนในบริเวณโครงการ Pak Beng ในสปป.ลาว และผลกระทบข้ามพรมแดน (Environmental and Social Impact Assessment : ESIA) จากรัฐบาลสปป.ลาว เป็นที่เรียบร้อย