กสิกรคาด 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ ยอดใช้จ่ายไทยเที่ยวไทยสะพัด 1.8 แสนล้านบาท

807
0
Share:

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2563 หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างเร่งทำตลาดกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อความต่อเนื่องในการฟื้นตัวของตลาดไทยเที่ยวไทย จากผลสำรวจของ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ กลุ่มตัวอย่างมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วน 77.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน
.
แต่การท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอนสูง เมื่อกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มองว่าหากมีการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศจะมีผลต่อการปรับแผนการเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงยังมีประเด็นการเมืองที่ต้องติดตาม
.
อย่างไรก็ตามกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมีความกังวลในเรื่องภาวะเศรษฐกิจส่งผลทำให้จำนวนความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวเฉลี่ยลดลง รวมถึงแผนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อทริปปรับลดลงประมาณ 5.5% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน
.
โดยภายใต้กรณีที่ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในประเทศอีกครั้ง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว และการชุมนุมทางการเมืองที่อยู่ในขอบเขตจำกัด จะช่วยทำให้การใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศในช่วง 3 เดือนสุดท้ายนี้ น่าจะมีมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้านบาท หดตัวประมาณ 37.1% จากปีก่อน ดีขึ้นจากที่หดตัวแรงในช่วงก่อนหน้า และทั้งปี 2563 นี้ ผลจากโควิด-19 ทำให้การใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.06 แสนล้านบาท หดตัว 53.3% จากปี 2562
.
แม้ผลสำรวจจสะท้อนภาพของจำนวนคนที่คาดว่าจะเดินทางเพิ่มขึ้นในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ แต่ผลสำรวจจำนวนครั้งที่กลุ่มตัวอย่างมีแผนที่จะเดินทางท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 1.8 ครั้ง (ทริป) ลดลงเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการปรับลดค่าใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว โดยค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6,700 บาทต่อทริป ซึ่งลดลงประมาณ 5.5% เมื่อเทียบกับผลสำรวจจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
.
โดยค่าใช้จ่ายที่ลดลง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการซื้อของฝาก โดยค่าใช้จ่ายในกลุ่มนี้ลดลงต่อเนื่องติดต่อกันมา 2 ปี เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจขายสินค้าของที่ระลึกและของฝาก ปรับมาทำตลาดออนไลน์มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ปรับลดลงเช่นกันอย่างค่าใช้จ่ายการเข้าสถานที่ท่องเที่ยว เป็นต้น
.
ขณะที่ในส่วนของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ โรงแรมและที่พัก ซึ่งเป็นผลจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันที่รัฐบาลสนับสนุนค่าที่พัก 40% สูงสุด 3,000 บาทต่อคืนต่อห้อง นอกจากนี้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ลงมาทำราคาที่จูงใจเพื่อเป็นทางเลือกให้นักท่องเที่ยว ทำให้กลุ่มตัวอย่างส่วนหนึ่งปรับไปเลือกใช้บริการกลุ่มโรงแรมดังกล่าว
.
โดยสรุป ทิศทางตลาดไทยเที่ยวไทยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ หากไม่มีการกลับมาระบาดซ้ำอีกครั้งของโรคโควิด-19 ในประเทศ และปัญหาการเมืองอยู่จำกัดเฉพาะพื้นที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ตลาดไทยเที่ยวไทยน่าจะยังรักษาระดับการเพิ่มขึ้นได้ โดยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศน่าจะมีจำนวน 36.1 ล้านคน-ครั้ง และการใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 1.8 แสนล้านบาท
.
ขณะที่ภาพรวมตลาดไทยเที่ยวไทยทั้งปี 2563 การเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยน่าจะแตะที่กรอบล่างของการประมาณการ โดยอยู่ที่ประมาณ 89.5 ล้านคน-ครั้ง หดตัว 46.4% และสำหรับการใช้จ่ายของคนไทยเที่ยวในประเทศน่าจะมีมูลค่า 5.06 แสนล้านบาท หดตัว 53.3% จากปี 2562