ล็อกไม่ช่วย! หมออดุลย์ ศิริราชพยาบาล ชี้ล็อกดาวน์ในไทยไม่ช่วยสถานการณ์ดีขึ้น

427
0
Share:

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์ รองคณบดีฝ่ายสารสนเทศ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล โพสต์เฟสบุ๊กเกี่ยวกับการรับมือผู้ติดโรคระบาดโควิด-19 เกินวันละ 20,000 คน และการล็อกดาวน์ไม่ได้ผล มีดังนี้

#สถานการณ์ไม่เหมือนกันจัดการไม่เหมือนกัน

ในฐานศัลยแพทย์ เวลาเจอบาดแผล เราจะต้องเลือกวิธีดูแลแผล ที่แตกต่างกัน ตามบริบท และ สภาพของแผล รวมถึงพยาธิสภาพของการเกิดโรค

แผลสดมีดบาดแบบตื้นๆ ผิวๆ กดห้ามเลือดเสร็จทำ ความสะอาด ใช้ พลาสเตอร์พัน หรือปิดให้แผลประกบกัน ไม่กี่วันแผลก็หาย ถ้าแผลบาดลึกหน่อยแต่ไม่ถูกเส้นเลือดใหญ่ ก็กดห้ามเลือด หรือ อาจจะใช้จี้ไฟฟ้าจี้ แล้วค่อยเย็บแผล แต่ถ้าแผลหัวแตก ก็กดห้ามเลือด ทำความสะอาดแผล แต่เลือดจะออกตลอดเวลา ต้องเย็บแผลเลย เลือดถึงจะหยุด แผลที่ถูกกดเบียด ถูไถ ขาดเป็นวิ่นๆ ต้อง ตกแต่งขอบแผล และ นำเนื้อตายออกด้วย ถ้าไม่ทำ เย็บแผลเลย แผลจะอักเสบ และ สมานไม่ดี แผลที่มีกระดูกหัก ต้องล้างกระดูกให้ดี ก่อนเย็บแผล ส่วนแผลที่เกิดจากการเจาะระบายหนอง มีหนองอยู่ข้างใน ต้องไม่เย็บแผลเลยครับ ต้องรอให้แผลหายจากด้านใน ซึ่งใช้เวลานานกว่ามากและ ต้องคอยระวังไม่ให้ปากแผลปิดเร็วเกินไป

ทั้งหมดนี้ เป็นหลักปฏิบัติทางการแพทย์ ที่ต้องรู้ และเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโรค และ พยาธิสภาพ รู้ว่า ร่างกายจะตอบสนองต่อการบาดเจ็บ เนื้อเยื่อที่ชอกช้ำ เชื้อโรค และ การเย็บแผลอย่างไรบ้าง บางครั้ง ยังอาจจะต้องเอาผิวหนังที่อื่น หรือ เนื้อที่อื่นมาปิดแผลเสียด้วยซ้ำ การรักษา ต้องใช้ความรู้ และ เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับเวลานั้น

สถานการณ์ covid19 ในปัจจุบันก็เช่นกัน ต้องการความรู้ และ เลือกวิธีการรับมือที่เหมาะสมครับ

ช่วงแรกๆ การเจอคนไข้ เพียงไม่กี่คน การแยกตัวคนไข้ออกจากชุมชน มารับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลทุกราย เป็นเรื่องที่ถูกต้อง อาจจะยังไม่ต้องการการ lock down เพราะ จะยังช่วยให้เราควบคุมโรคได้ดี แต่พอคนไข้เยอะขึ้น จน ศักยภาพที่หอผู้ป่วยโรงพยาบาล รับไม่ไหว การเปิด โรงพยาบาลสนาม การทำ กักบริเวณ bubble and seal ก็เป็นวิธีการที่ได้ผล เหมือนกับ ตอนเกิดเรื่องที่ตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร เราก็ควบคุมโรคได้ แต่พอโรคระบาดเยอะขึ้นมาก เช่นมีที่เรือนจำ การทำโรงพยาบาล สนามในเรือนจำ และ ดูแลผู้ป่วยหนักในเรือนจำ ก็ทำได้ แต่จังหวะนั้น ยังมีญาติ และ พนักงานผู้ปฏิบัติงานเข้าออกเรือนจำอยู่ มีการลักลอบแรงงานเข้าแคมป์คนงานอยู่ และ จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมาก จังหวะนั้น ต้อง lock down จึงจะได้ผลดี การใช้แค่ bubble and seal จะไม่เพียงพอ

เมื่อการระบาดมากมาย เรือนหมื่น การรักษาที่ โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม จึงไม่ตอบโจทย์ เพราะมีคนป่วยอยู่มากมายทุกพื้นที่ จะเป็นต้องเร่งให้ เชื้อโรคไม่เข้าไปสัมผัสเนื้อที่ดี เหมือนการเจาะระบายหนอง จึงต้อง อนุญาตให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้าน แต่ได้รับยาเพื่อลดเชื้อ จะได้ไม่เป็นภาระผู้ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และ ต้องทำให้เร็ว การเจาะระบายหนองช้า หมายถึง อาจจะมีการกระจายของการอักเสบไปทั่ว การเจาะระบายหนอง ไม่ใช่ การปลดล็อก และ ก็ไม่ใช่การ lock down (การเย็บแผลในกรณีที่เป็นหนองแล้ว ไม่เกิดประโยชน์) ที่สำคัญ คือ ต้อง ทำแผล ล้างเอาหนองออกทุกวัน และ การป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อดี ได้รับการอักเสบติดเชื้อ เนื้อเยื่อที่ชอกช้ำต้องนำออก

ในยุคที่การระบาดมีรายใหม่เกิน 2 หมื่นต่อวัน ต้องเจอคนไข้ให้เร็ว และ เร่งการให้ยาและรักษา รายบุคคล ให้ครบถ้วนทุกวัน เพื่อที่คนเหล่านี้จะได้ไม่สามารถไปแพร่เชื้อต่อ และ รอเวลาให้เนื้อเยื่อโดยรอบสมานเข้ามา เนื้อเยื่อโดยรอบ คนทั่วไป มีภูมิคุ้มกัน ได้รับการฉีดวัคซีน โรคก็จะไม่เลวร้ายลง และ หายได้ในที่สุด

การ lock down วันนี้ ไม่น่าจะเกิดประโยชน์ การไล่ ไทม์ไลน์ ก็ไม่เกิดประโยชน์ เจอให้เร็ว รักษาให้เร็ว ฉีดวัคซีนให้เร็ว เป็นทางออกที่ถูกต้อง และ ขณะเดียวกัน ต้องจำกัดบริเวณของแผล ไม่ให้อักเสบลุกลาม ด้วยการ ไม่ย่อหย่อนเรื่องการป้องกันโรค ไม่เอาเชื้อโรคจากที่หนึ่ง ไปติดยังเนื้อเยื่อข้างเคียง โดยไม่ต้องเย็บแผล ไม่ต้อง lock down มาตรการที่สำคัญ คือ จำกัด บริเวณไม่ให้มีโรคไปที่อื่น ซึ่ง น่าจะเรียกว่า การจำกัดการเคลื่อนที่ แต่ไม่ได้จำกัดกิจกรรม ที่มีการป้องกันอย่างดี กิจกรรมที่ป้องกันอย่างดี ควรได้รับอนุญาต ให้ดำเนินการ

ทุกอย่างไม่เหมือนกันนะครับ .. นี่เป็นแค่การเปรียบเทียบ การปฏิบัติจริงคงมีรายละเอียดอีกมาก

ผม ผ่าตัด และ ดูแลแผลผ่าตัด และ แผลชนิดต่างๆ ได้ แต่ ก็คงไม่สามารถ ดูแล ปัญหา covid19 ระดับชาติ

เชื่อว่า ผู้รู้ ผู้สามารถ ผู้รับผิดชอบ ย่อมสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ตามบริบท และ การเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ครับ