วงจรหิน! พ้นโควิดส่งคนไทยเงินออมลด หันก่อหนี้ต้องดาวน์สูง ดันเพิ่มหนี้ครัวเรือนไม่จบ

173
0
Share:
วงจรหิน! พ้นโควิดส่งคนไทย เงินออม ลด หันก่อหนี้ต้องดาวน์สูง ดันเพิ่ม หนี้ครัวเรือน ไม่จบ

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ ไทยพาณิชย์ หรือ SCB EIC เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย คนไทยมียอดสะสมของเงินฝากส่วนเกินในระบบธนาคารสูงกว่า 8 ล้านล้านบาทในช่วงปีแรกของการระบาด หรือระหว่าง มี.ค. 2020 – ก.พ. 2021 สอดคล้องกับข้อมูลเงินออมเฉลี่ยของครัวเรือนไทยจากข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าเงินออมครัวเรือนไทยในปี 2021 เพิ่มขึ้นในช่วงสถานการณ์ระบาด

จึงอาจกล่าวได้ว่าเงินฝากที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิดเกิดจากการออมเพื่อป้องกันความไม่แน่นอนในชีวิตนั้นเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว ขณะที่เงินฝากของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงกลับสู่เทรนด์เดิมก่อนการระบาด คล้ายกรณีหลังเกิดวิกฤตอุกทกภัยในปี 2011 ที่อัตราการขยายตัวของเงินฝากเร่งตัวสูงหลังเกิดวิกฤตช่วงปีแรก เริ่มปรับชะลอลงกลับเข้าสู่ทิศทางเดิมได้ในที่สุดในช่วง 2 ปีต่อมา ดังนั้น การที่เงินฝากในระบบธนาคารเพิ่มขึ้นมากในช่วงโควิด จึงไม่น่าส่งผลกระทบเปลี่ยนพฤติกรรมการออมของครัวเรือนไทยในระยะยาวเช่นกัน ในภาพรวมการออมครัวเรือนไทยคาดว่าจะยังคงมีทิศทางลดลง โดยการออมของครัวเรือนไทยระยะยาวยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2013 แม้เงินออมครัวเรือนไทยจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปัจจัยชั่วคราวในปี 2021 ทิศทางการออมของครัวเรือนไทยหลังโควิด ที่มีแนวโน้มต่ำลงกลับสู่เทรนด์เดิมเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของเศรษฐกิจและสังคมไทยในระยะยาว โดยการออมของครัวเรือนส่งผลต่อสถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูงกว่า 90% ต่อ GDP และมีแนวโน้มปรับลดลงได้ช้า การที่ครัวเรือนมีเงินออมน้อยนั้นจะส่งผลให้มีเงินดาวน์น้อย ทำให้ต้องกู้เกือบเต็มมูลค่าในการซื้อสินทรัพย์ถาวรต่างๆ และเลือกแนวทางผ่อนชำระเป็นเวลานานเพื่อลดภาระผ่อนหนี้รายเดือน ส่งผลให้ครัวเรือนเป็นหนี้สูงและเป็นหนี้นาน

นอกจากนี้ การออมของครัวเรือนยังมีผลในระยะยาวต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะหลังจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งจะกระทบต่อเสถียรภาพการคลังภาครัฐจากรายจ่ายสวัสดิการเพื่อดููแลผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น การส่งเสริมการออมระยะยาวให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มอายุและอาชีพและการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ควรดำเนินการควบคู่กันเพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนในระยะยาว