วิจัยไทยพาณิชย์ มอง กนง. ปรับขึ้นดอกเบี้ยรวม 8 ครั้ง สู่ Neutral rate จบรอบขาขึ้น

176
0
Share:
วิจัยไทยพาณิชย์ มอง กนง. ปรับขึ้น ดอกเบี้ย รวม 8 ครั้ง สู่ Neutral rate จบรอบขาขึ้น

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยสิ้นสุดแล้ว หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ Neutral rate และจะคงดอกเบี้ยต่อเนื่องไปในปีหน้า โดย กนง.ได้ดำเนินการปรับทิศทางนโยบายการเงินของไทยให้กลับเข้าสู่ระดับปกติ (Monetary policy normalization) ที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะยาวแล้ว ผ่านการทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง 8 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 2.0% สู่ Terminal rate ที่ 2.5% ซึ่งน่าจะเป็นระดับ Neutral rate (ระดับอัตราดอกเบี้ยที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับศักยภาพและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% อย่างยั่งยืน) ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (Real interest rate) ของไทยกลับมาเป็นบวก ซึ่งจะช่วยเสริมเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาวผ่านการป้องกันการสะสมความไม่สมดุลทางการเงินที่เกิดจากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน

โดยคาด กนง.จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับปัจจุบันต่อเนื่อง หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามที่ประเมินไว้ เพื่อให้กลไกดอกเบี้ยนโยบายส่งผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากในปี 2567 แม้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งขึ้น แต่เศรษฐกิจจะยังเติบโตได้ในระดับศักยภาพ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% โดยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ Neutral rate ยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทยในปีหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากอาจมีแรงส่งเพิ่มเติมของนโยบายภาครัฐ มุมมองการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าอาจเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมต่อไป

SCB EIC คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.1% และ 3.5% ในปี 2566 และ 2567 โดยปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ลงเหลือ 3.1% เนื่องจากข้อมูลจริงในไตรมาส 2 ออกมาต่ำกว่าคาดมากจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวแรงต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี

เศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังมีแรงหนุนหลักจากการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้ภาคบริการของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2567 โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตเร่งขึ้นที่ 3.5% จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องเป็น 37.7 ล้านคน และการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นตามแนวโน้มการอนุมัติการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment) รวมถึงการส่งออกที่จะกลับมาฟื้นตัว

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ แต่จะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1.7% และ 2% ในปี 2566 และปี 2567 ตามลำดับ เนื่องจากราคาพลังงานและราคาอาหารมีแนวโน้มปรับสูงขึ้น

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มทรงตัวที่ 1.4% และ 1.5% ในปีนี้และปีหน้าตามลำดับ คาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ 3.1% และ 3.5% ในปี 2566 และ 2567