‘วิชา มหาคุณ’แถลง คดีบอส อยู่วิทยา ทำสำนวนบกพร่องตั้งแต่เริ่มต้น

774
0
Share:

นายวิชา มหาคุณ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน แถลงการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส ขับรถชนตำรวจเสียชีวิตเมื่อปี 2555 ว่า
.
ข้อมูลที่ได้มายังไม่เป็นข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์นายกฯจึงกังวลว่า การเผยแพร่จะส่งผลกระทบต่อตัวบุคคล แต่รายงานที่ส่งถึงนายกฯมีการบอกอย่างละเอียดว่า มีใคร และหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้องบ้าง แต่ขึ้นอยู่กับนายกฯว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่
.
โดยจากการตรวจสอบ ได้เห็นพฤติกรรมทำสำนวนบกพร่องตั้งแต่แรก จุดที่บกพร่องคือ ตั้งข้อหาสำหรับคนตายโดยเฉพาะตำรวจที่เสียชีวิต ซึ่งเป็นการไม่เป็นธรรม และไม่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะได้รับเงินเยียวยา แต่ทำให้รูปคดีเสียหายอย่างหนักสะท้อนว่าไม่มีความจริงจัง จริงใจในการทำสำนวน
.
เรื่องนี้แสดงให้เห็นชัดว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้ทำสำนวนอย่างมืออาชีพ เพราะบางข้อกล่าวหาไม่ได้ใส่ในสำนวน และก็สั่งไม่ฟ้อง เช่น เรื่องเมาสุราขับรถ
.
นอกจากนี้ยังใช้เวลายาวนานมากในการสืบสวนสอบสวน หรือนานถึง 6 เดือน และไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้องศาล ตามที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องตั้งแต่แรก จุดที่ต้องขอบคุณคือ มีอัยการหลายท่านที่ต่อสู้โดยตลอดเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ไม่ว่าจะถูกกดดันอย่างไร เขายืนหยัดว่าพยานหลักฐานที่ตำรวจสอบมาใช้ไม่ได้ เราจึงต้องขอบคุณท่านเหล่านี้
.
การที่ไม่สามารถติดตามผู้ต้องหามาส่งฟ้องศาลได้ ทำให้เกิดช่องโหว่ในการร้องขอความเป็นธรรมของฝ่ายผู้ต้องหา มีการร้องขอความเป็นธรรมถึง 14 ครั้ง ซึ่ง 13 ครั้งที่ผ่านมาไม่ประสบความสำเร็จ แต่มาประสบความสำเร็จในครั้งที่ 14
.
โดยพยานหลักฐานครั้งที่ 8 เป็นครั้งที่เป็นการร่วมมืออย่างผิดปกติที่สุด เป็นการทำสำนวนแบบสมยอม วันที่สอบพยานผู้เชี่ยวชาญก็ผิด ทั้ง พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น และ อ.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม ทำให้กลับความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญ โดย พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ ยืนยันว่าเป็นการถูกกดดันและพยายามที่จะเปลี่ยนตลอดมา ก็ขอบคุณที่มาให้ถ้อยคำที่เป็นประโยชน์ ซึ่งวันสอบอันเป็นเท็จคือ 26 ก.พ. 2559 และ 2 มี.ค. 2559 แต่แท้จริงคือ 29 ก.พ. 2559 มีหลักฐานยืนยันชัดเจน และขณะนี้ทั้ง 2 คน ขออยู่ในกระบวนการคุ้มครองพยานโดยทันทีเพราะมีความกลัว
.
ซึ่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่เป็นอดีตผู้พิพากษาดูแลอยู่ และแม้ว่า อ.สายประสิทธิ์ จะใช้หลักเกณฑ์การคำนวณตามหลักวิศวกร แต่ยอมรับว่าไม่ได้ไปที่เกิดเหตุและไม่ได้ทดสอบอะไร เพียงคำนวณจากกระดาษ จึงไม่ใช่การข้อมูลที่เป็นจริง คนที่ใช้ข้อมูลจริงๆ คือ อ.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ แต่กลับไม่ได้นำเอกสารที่ทดสอบมาเข้าสำนวน ซึ่งเป็นข้อพิรุธ เป็นความร่วมมือกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐ
.
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการตรวจสอบทั้งหมดมีความเห็นตรงกันว่า เป็นกระบวนการทำสำนวนสมยอมโดยไม่สุจริต ตามทฤษฎีสมคบคิด ทำสำนวนเสียตั้งแต่ต้น พร้อมเปรียบเปรยว่าต้นไม้พิษย่อมให้ผลเป็นพิษ ดังนั้นต้นไม้พิษต้องฟันทิ้ง เห็นสมควรให้สอบสวนใหม่ แต่บางข้อหาขาดอายุความไปแล้ว
.
ดังนั้น จึงมีข้อเสนอแนะเร่งด่วนเรื่องเกี่ยวกับอายุความ เสนอว่าต้องแก้ให้อายุความหยุดลงเมื่อผู้ต้องหาหลบหนี แบบเดียวกับคดีทุจริต จนกว่าจะได้ตัวมาอายุความจึงจะเริ่มนับต่อ และจะรีบเสนอก่อนที่จะมีการเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องมีกฎหมายใช้ทั่วถึงกัน และเรื่องนี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้ดำเนินการ พร้อมยืนยันว่าต้องดำเนินการบุคคลในตำแหน่งสูงและเป็นผู้นำ อาจจะไม่ได้ข้อมูลแท้จริงทางอาญาและวินัย แต่ทำได้ในแง่จริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ 60 โดยให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบ ซึ่งสามารถให้พ้นจากตำแหน่ง โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
.
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและบุคคลอื่นที่ร่วมในขบวนการนี้กล่าวคือ
.
-พนักงานสอบสวนซึ่งเกี่ยวข้องกับสำนวน
.
-พนักงานอัยการซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
.
-ผู้บังคับบัญชาซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
.
-สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
.
-ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่
.
-ทนายความซึ่งกระทำผิดกฎหมาย
.
-พยานซึ่งให้การเป็นเท็จ
.
-ตัวการ ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนในการกระทำผิดกฎหมายดังกล่าว