วิศวกรรมสถานแถลงล้อกระเป๋าเดินทางผู้โดยสารติดซี่หวีทางเลื่อนแตกยุบเกิดช่องขาเข้าไปติด

313
0
Share:
วิศวกรรมสถาน แถลงล้อกระเป๋าเดินทาง ผู้โดยสาร ติดซี่หวีทางเลื่อนแตกยุบเกิดช่องขาเข้าไปติด ดอนเมือง

วันที่ 30 มิถุนายน นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. แถลงเปิดเผยผลการลงพื้นที่ไปยังจุดเกิดเหตุการณ์ขาของผู้โดยสารหญิงไปติดทางเลื่อนบริเวณทางเดิน South Corridor ระหว่าง Pier 4-Pier 5 อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคาร 2 ท่าอากาศยานดอนเมือง พบว่า การเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว จึงสันนิษฐานเป็นลำดับได้ว่าอาจเกิดจากการที่มีวัสดุตกหล่นไปขัดอยู่บริเวณปลายหวี และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ล้อกระเป๋าเดินทางไปติดอยู่ที่ปลายหวีนั้นด้วย เมื่อล้อของกระเป๋าเดินทางไม่สามารถเคลื่อนตัวต่อไปได้ จึงเกิดการขัดตัวจนกระทั่งปลายหวีแตกหักและหลุดเข้าไปในระบบทางเลื่อนอัตโนมัติ เป็นเหตุให้ไปง้างแผ่นพื้นทางเลื่อน เกิดการกระดกจนน็อตที่ล็อกแผ่นพื้นกับรางเลื่อนขาด ซึ่งในที่เกิดเหตุพบว่าน็อตหายไป 3 ตัว ทำให้มีช่องว่างกว้างเพียงพอที่จะทำให้ขาของผู้บาดเจ็บที่กำลังก้าว หล่นลงไปในช่องว่าง ในขณะที่ทางเลื่อนยังทำงานตามปกติ จึงทำให้เกิดการบาดเจ็บดังที่ปรากฏตามข่าว

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า จากข้อมูลของการบำรุงรักษา ซึ่งมีการตรวจความปลอดภัย (QA) ของระบบบันไดเลื่อนทั้งหมด รวมถึงทางเลื่อนอัตโนมัติได้รับรองความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ไว้แล้ว นอกจากนี้ ในการใช้งาน เจ้าหน้าที่ดูแลรักษาจะต้องตรวจสอบการทำงานของระบบก่อนการเปิดใช้งานทุกวัน ซึ่งในวันเกิดเหตุ หรือเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ก็ได้มีการตรวจสอบก่อนใช้งาน และไม่พบเหตุที่ทำให้ระบบบันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติมีการทำงานที่ผิดปกติ และในวันเกิดเหตุเป็นการหยุดโดยระบบเซ็นเซอร์ ซึ่งใช้เวลาในการหยุดทำงาน 20 วินาที ไม่ได้เกิดจากการกดหยุดโดยคน

นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วสท. แถลงต่อไปว่า สำหรับความแตกต่างของทางเลื่อนอัตโนมัติและบันไดเลื่อน ซึ่งการทำงานและอุปกรณ์ของทั้งสองอุปกรณ์นี้คล้ายกัน มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนสองเรื่อง คือ มุมที่วัดจากแนวระนาบสำหรับทางเลื่อนอัตโนมัติจะไม่เกิน 11 องศา เพื่อให้แผ่นพื้นเรียบ หากมุมจากแนวระนาบเกินกว่านี้ จะต้องทำแผ่นพื้นให้เป็นขั้นบันไดเลื่อน และข้อแตกต่างของการรับน้ำหนัก ซึ่งทางเลื่อนอัตโนมัติ 1 แผ่นพื้น สามารถรับน้ำหนักได้ 160 กิโลกรัม

ขณะที่บันไดเลื่อนจะออกแบบให้รับน้ำหนักที่ 75 กิโลกรัมต่อคน น้ำหนักที่ใช้ในการออกแบบดังกล่าวมีความสำคัญในการออกแบบอุปกรณ์ เพื่อความปลอดภัยของทั้งระบบบันไดเลื่อน และทางเลื่อนอัตโนมัติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากล EN115

ในโอกาสนี้ จึงขอเสนอข้อแนะนำ 4 เรื่อง ให้กับประชาชนในการใช้บันไดเลื่อน และทางเลื่อน ได้แก่ 1.ต้องมีสติ อย่าให้มีสิ่งวอกแวกเกิดขึ้น 2.งด หรือหลีกเลี่ยง การใช้อุปกรณ์สื่อสารระหว่างใช้บันไดเลื่อน หรือทางเลื่อน 3.ขอให้เอามือจับราวบันไดเลื่อนไว้ ซึ่งในกรณีที่จับ จะสามารถป้องกันความรุนแรงของเหตุที่จะเกิดได้ดีกว่าไม่จับ และ 4.หากพบเสียงดังผิดปกติ อย่าเพิ่งใช้บันไดควรงดการใช้งานไปก่อน

นายบุญพงษ์ กิจวัฒนาชัย ประธานสาขาวิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือ วสท. ขอยืนยันว่าไม่มีส่วนไหนของทางเลื่อน หรือบันไดเลื่อนที่มีแรงดูด และดึง คนเข้าไปติดได้ อุปกรณ์เหล่านี้ไม่ได้มีแรงดูดขนาดนั้น โดยเฉพาะขนแปรงที่มีคนเข้าใจว่าเป็นที่ขัดรองเท้า แต่สิ่งนั้นคือระบบเซฟตี้ ที่ทำมาเพื่อป้องกันชายกระโปรง หรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดบริเวณด้านข้างของทางเลื่อน ไม่ได้สร้างความอันตรายแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ วสท.ยังมีความจำเป็นที่ต้องทำการแสวงหาข้อเท็จจริงโดยละเอียด เพื่อหามาตรการในการป้องกันให้เกิดความปลอดภัยต่อประชาชนผู้ใช้งานต่อไป และอยากฝากถึงผู้ประกอบการหรือหน่วยงานต่างๆ ต้องมีการเฝ้าระวังให้มากกว่านี้ ต้องมีคนเดินตรวจ และหมั่นตรวจ เพราะทางเลื่อน หรือระบบสาธารณะมีโอกาสที่เกิดอุบัตติเหตุได้ตลอดเวลา และห้ามให้เกิดการหักของซี่หวีติดกัน หากพบต้องมีการซ่อมแซมทันที เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก