ศูนย์จีโนมฯ เผย “โอไมครอน”กลายพันธุ์ใหม่ พันธุ์ย่อย “BA.2.2” จากฮ่องกงยังไม่พบในไทย

366
0
Share:

เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ของ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดีระบุว่า…โอไมครอน “BA.2.2” (B.1.1.529.2.2) มหาภัยสายพันธุ์ใหม่จาก “ฮ่องกง” การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอไมครอนในเกาะฮ่องกง ได้ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ “BA.2.2” มีการกลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลมซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนที่ตำแหน่ง 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ “S:I1221T” (ภาพ 1-4) โดยพบมีแพร่ระบาดไปยังอังกฤษแล้ว

การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน (ภาพ 5) โดยอัตราเฉลี่ยผู้เสียชีวิตดังกล่าวสูงมากกว่าลัตเวียที่มีอัตราผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับสองถึงสองเท่า

ที่น่ากังวลอีกประการคือจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอไมครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมากเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน (ภาพ 5) ได้ส่งผลให้โอมิครอนมีการกลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อย “BA.2.2” หรือ B.1.1.529.2.2 มีการกลายพันธุ์ตรงหนาม “I1221T” (ภาพ 2)

โดยขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการ

1. BA.2.2 กลายพันธุ์ไปมากกว่า BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนามที่เปลือกของอนุภาคไวรัส

2. BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่

3. BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่

4. BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่

5. ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวใหม่ “โซโทรวิแมบ” (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ

6. ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในฮ่องกงทำสถิติสูงสุดในโลก (ภาพที่ 6)

ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว คาดว่าจะแล้วเสร็จนำออกใช้ตรวจกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี “MassArray Genotyping” ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากัวงล (variants of concern: VOC) รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว (single reaction) ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล