ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองแนวโน้มธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ปี66 ส่งสัญญาณชะลอตัว ไรเดอร์ส่องานหด

483
0
Share:
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองแนวโน้ม ธุรกิจ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ปี66 ส่งสัญญาณชะลอตัว ไรเดอร์ส่องานหด

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าจากดัชนีปริมาณการสั่งอาหารไปส่งยังที่พักจากข้อมูล LINE MAN Wongnai ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 65 พบว่า เริ่มมีสัญญาณของการทรงตัวถึงชะลอลง หลังจากที่การระบาดของโควิดได้กระตุ้นให้เครื่องชี้ดังกล่าวเร่งตัวขึ้นอย่างมาก สะท้อนว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่คงจะเข้าถึงการใช้บริการนี้มากพอสมควรแล้ว และการเพิ่มปริมาณการสั่งในช่วงข้างหน้า น่าจะมีข้อจำกัดของการเติบโต

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 66 ตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก น่าจะมีมูลค่าประมาณ 8.1-8.6 หมื่นล้านบาท โดยหดตัว 0.8% ถึงหดตัว 6.5% (จากฐานที่สูงในปี 65) เนื่องจากเผชิญกับโจทย์ท้าทายหลังโควิด เมื่อกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาขับเคลื่อนปกติ และการใช้ชีวิตประจำวันเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ทำให้การเติบโตของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก ส่งสัญญาณชะลอตัวลง คาดว่ามูลค่าตลาดในระยะข้างหน้า จะทรงตัวถึงหดตัวเมื่อเทียบกับฐานที่สูงในปี 65 ผ่านปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ การใช้บริการ Food Delivery ยังมีอยู่แต่น่าจะอยู่ในระดับที่ชะลอลง การผ่อนปรนมาตรการควบคุมของภาครัฐบาลที่ไม่ได้เข้มงวดเหมือนอดีต สะท้อนตั้งแต่ต้นปีนี้ จนถึงปัจจุบันกลุ่มตัวอย่างกว่า 37% ปรับลดความถี่ในการใช้บริการลงหลังจากที่สถานการณ์โควิดดีขึ้น ,ระดับราคาเฉลี่ยต่อออเดอร์มีแนวโน้มทรงตัวหรือสูงขึ้น โดยเป็นผลจากการปรับขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบอาหาร และราคาพลังงานที่ยังทรงตัวสูง

อย่างไรก็ดี การทำตลาดของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารมีความยากลำบาก เนื่องจากรูปแบบโครงสร้างของธุรกิจประเภท On Demand ยังมีโจทย์ในด้านของต้นทุนทางธุรกิจที่สูง ผลประกอบการยังขาดทุน (ซึ่งยอดขาดทุนได้ลดระดับลงมาอย่างมากเมื่อเทียบกับปี 62 เนื่องจากในช่วงปี 64 และ 65 ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 5-6 เท่า

ขณะที่การแข่งขันในตลาดรุนแรงขึ้น ทั้งจากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารเอง และผู้ประกอบการร้านอาหารใหญ่ที่ลงมาทำตลาด Food Delivery มากขึ้น ประกอบกับการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจยังต้องคำนึงถึงผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ของธุรกิจ ได้แก่ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ผู้สั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน และผู้ให้บริการส่งอาหารไปยังที่พัก

ดังนั้น เห็นได้ว่า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร มีการปรับตัวรองรับกับโจทย์ธุรกิจ Food Delivery ที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายฐานตลาดไปยังต่างจังหวัด การดึงกลุ่มลูกค้าเก่าให้ใช้งานต่อเนื่อง ด้วยการนำเสนอแพคเกจรายเดือน และการขยายธุรกิจไปยังกลุ่มที่เกี่ยวเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักควรจะมีการเพิ่มประสิทธิภาพ AI โดยนำฐานข้อมูลที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มาจัดทำโปรโมชันที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเช่น การออกโปรโมชันค่าจัดส่งเป็นรูปแบบเหมาจ่ายที่ต่ำกว่าการแยกจ่ายต่อครั้ง สำหรับกลุ่มผู้ที่ใช้งานความถี่สูง หรือการผูกปิ่นโตกับกลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุ/ผู้ป่วย ที่มีข้อจำกัดในการออกไปซื้ออาหารนอกบ้าน และการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ ประกอบกับ ควรมีการบริหารจัดการขั้นตอนของห่วงโซ่ธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อลดระยะเวลาและค่าเสียโอกาส ผ่านระบบหลังบ้านที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ลดระยะเวลาที่ไรเดอร์จะไปนั่งรอร้านอาหาร รวมถึงการรับหลายออร์เดอร์พร้อมกันในครั้งหนึ่งอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ดีภาพรวมอุตสาหกรรม Food Delivery ในหลายประเทศที่มีการปรับลดลง หลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดฟื้นตัวดี และผู้บริโภคกลับออกมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ส่งผลให้ในระยะข้างหน้า ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารที่ยังมีขีดความสามารถในการแข่งขัน จะเป็นกลุ่มที่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เหลืออยู่ในอย่างรวดเร็ว และมีการรักษามาตรฐานของร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม รวมถึงสามารถนำเสนอคุณค่าของบริการที่มี ไปยังทุกภาคส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่ธุรกิจ ขณะเดียวกัน อาจต้องเร่งขยายช่องทางการขาย ให้มีความหลากหลาย และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น