ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดส่งออกกุ้งไทยปี 66 อาจหดตัว -3.5% ถึง โตได้ 0.5%

670
0
Share:
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาด ส่งออกกุ้ง ไทยปี 66 อาจหดตัว -3.5% ถึง โตได้ 0.5%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า การส่งออกกุ้งของไทยปี 2566 คาดอาจอยู่ที่ -3.5% ถึง 0.5% จากตลาดคู่ค้าหลักชะลอตัว แม้มีแรงซื้อจากจีนที่เข้ามาหนุนจากความต้องการที่คงจะเพิ่มขึ้นหลังการเปิดประเทศ โดยคาดว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งของไทยปี 2566 อาจอยู่ที่ 1.06-1.10 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรืออยู่ในกรอบ -3.5% ถึง 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักอย่าง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น (สัดส่วนมูลค่าส่งออกราวร้อยละ 55 ของการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก) มีแนวโน้มชะลอตัว ส่งผลให้ความต้องการผลิตภัณฑ์กุ้งอาจปรับลดลง แม้จะมีแรงซื้อจากตลาดจีน[1] ที่ความต้องการในประเทศคงจะเพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มกุ้งสดแช่แย็นแช่แข็ง[2] รวมถึงตลาดใหม่ๆ ที่ทางภาครัฐของไทยเข้าไปเจรจาการค้าในกลุ่มสินค้าเกษตรด้วย อาทิ ไต้หวัน ฮ่องกง[3] ทำให้ผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยมีแนวโน้มจะส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ด้วยสัดส่วนมูลค่าการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่ยังน้อย จึงช่วยชดเชยการหดตัวของตลาดหลักได้ไม่มากนัก

โดยแนวโน้มการส่งออกกุ้งของไทยในระยะต่อไป คงขึ้นอยู่กับทิศทางความต้องการคู่ค้าและการปรับตัวท่ามกลางความท้าทายของธุรกิจ โดยเฉพาะในเรื่องของความสามารถด้านการแข่งขัน โดยพบว่าตลาดสำคัญอย่างเช่น สหรัฐฯ เริ่มให้ภาพที่อิ่มตัวและมีทิศทางที่ลดลง จากการถูกปรับลดสิทธิพิเศษทางภาษีและราคาส่งออกของไทยที่สูงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง อาทิ เอกวาดอร์ เวียดนาม อินเดีย ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น ส่วนแบ่งตลาดไทยค่อนข้างคงที่และมีแนวโน้มจะปรับลดลง เนื่องจากมีการแข่งขันด้านราคาสูง
ขณะเดียวกัน ความสามารถด้านการแข่งขันของไทยที่เสียเปรียบคู่แข่งทั้งด้านราคาที่รุนแรง และมาตรการทางการค้าของคู่ค้า

ทั้งนี้ ท่ามกลางจากความท้าทายต่างๆ ซึ่งยังมีประเด็นค่าเงินที่ผันผวนสูงทั้งสองทิศทางด้วยนั้น นอกจากการปรับประสิทธิภาพการผลิตเพื่อลดต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยอาจพิจารณาโอกาสในตลาดศักยภาพใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง อาทิ ประเทศในตะวันออกกลาง นอกจากนี้ ภาคธุรกิจควรเตรียมการรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่อาจกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบให้ปรับสูงขึ้น (กระทบการเพาะเลี้ยงและอัตราการรอด ปริมาณผลผลิตลดลง) ตลอดจนมาตรการคู่ค้าและผู้บริโภคที่ตระหนักถึงประเด็นความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายต่อการสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจ ทั้งนี้ การส่งออกกุ้งของไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงในปีนี้ อาจส่งผลกดดันราคากุ้งในประเทศและกระทบรายได้สุทธิของผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง จึงเป็นโจทย์ที่ทุกฝ่ายรวมถึง Shrimp Board คงยังจำเป็นต้องเข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพด้านราคาเพื่อจูงใจการผลิต ควบคู่กับการผลักดันกลไกสร้างความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมกุ้งไทย

ปัจจุบันจีนก้าวขึ้นมาเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ในกลุ่มสินค้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง โดยปี 2565 มีอัตราการขยายตัวถึง 46.4%YoY และมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดไปยังตลาดจีนคิดเป็น 20% ของการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ส่วนการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก 65% เป็นกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง อีก 35% คือกุ้งแปรรูป โดยไทยมีมูลค่าการส่งออกกุ้งทั้งหมดไปยังตลาดไต้หวันและตลาดฮ่องกงคิดเป็น 6.0% และ 1.1% ของการส่งออกกุ้งทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก ตามลำดับ