ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินค้าปลีกปี 66 จะขยายตัวได้ราว 2.8-3.6% ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง

267
0
Share:
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมิน ค้าปลีก ปี 66 จะขยายตัวได้ราว 2.8-3.6% ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินในปี 66 ธุรกิจค้าปลีกยังคงเผชิญกับต้นทุนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการแข่งขันที่ยังคงยากลำบาก โดยเฉพาะตลาดในประเทศ ที่การบริโภคโดยรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยคาดว่ามูลค่าตลาดค้าปลีกปี 66 จะขยายตัวได้ราว 2.8-3.6% ชะลอตัวจากปี 65 ที่คาดว่าจะขยายตัวราว 6.4% เนื่องจากผลของภาวะเงินเฟ้อ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โดยการเติบโตในปี 66 นอกจากผลของราคาสินค้าที่ยังมีอยู่ การกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผลของมาตรการช้อปดีมีคืน 40,000 บาท ในช่วงวันที่ 1 มกราคม – 15 กุมภาพันธ์ 66 และการใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้ง น่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ภาพรวมของตลาดค้าปลีกยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 66

ทั้งนี้ แรงหนุนจากมาตรการช้อปดีมีคืนที่อาจจะกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคได้บางส่วน โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้เฉลี่ยตั้งแต่ 30,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป และกิจกรรมการใช้จ่ายที่คงถูกกระตุ้นในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปที่อาจเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม น่าจะหนุนการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในช่วงครึ่งแรกปี 66

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายหลังผ่านพ้นกิจกรรมต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ในช่วงครึ่งปีหลัง ยังคงต้องรอติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ค่าครองชีพที่ยังสูง ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ส่งผลให้การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในปี 66 แม้จะให้ภาพที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่คงเป็นไปด้วยความระมัดระวังและยังเผชิญกับโจทย์ท้าทายรอบด้าน ซึ่งจะมีผลต่อการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกในแต่ละ Segment ที่แตกต่างกัน

โดยกลุ่มค้าปลีกที่คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี เมื่อเทียบกับค้าปลีก Segment อื่นๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า (Department store) และร้านสะดวกซื้อ (Convenience store) เป็น Segment ค้าปลีกที่คาดว่าจะยังคงฟื้นตัวได้ดีกว่าค้าปลีกในกลุ่มค้าปลีก Segment อื่นๆ หลังจากที่หดตัวสูงในช่วงปี 63-64 จากการระบาดของโควิด-19 โดยการฟื้นตัวดังกล่าว เป็นผลจากการทยอยกลับมาของลูกค้าหลัก อย่างกลุ่มพนักงานออฟฟิศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ภายหลังสถานการณ์โควิดในประเทศคลี่คลาย

ขณะที่กลุ่มค้าปลีกที่คาดว่าจะเผชิญความยากลำบากในการแข่งขัน ได้แก่ ไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) หรือดิสเคาน์สโตร์ แม้ว่าจะได้อานิสงส์จากการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค แต่การดำเนินธุรกิจยังคงเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อปานกลางลงมา อีกทั้งยังเผชิญการแข่งขันกับค้าปลีกภูธรที่พยายามปรับกลยุทธ์เพื่อให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มดังกล่าวมากขึ้น รวมทั้งโชห่วย ยังคงเป็น Segment ค้าปลีกที่เผชิญกับความยากลำบากในการสร้างยอดขาย เนื่องจากต้องแข่งขันรุนแรงกับผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา เนื่องจากสินค้าที่จำหน่ายไม่ได้แตกต่างกัน ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจในระยะข้างหน้าเต็มไปด้วยความท้าทาย

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในระยะข้างหน้า รูปแบบของการทำธุรกิจค้าปลีกหรือ Landscape น่าจะเปลี่ยนแปลงไป ตามการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ อัตราการเกิดใหม่ของประชากรที่ลดลง เทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมและการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งตลาดค้าปลีกในกรุงเทพฯ จะเริ่มแน่นและอิ่มตัว รวมถึงขยายตัวได้ยากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายเริ่มขยายแผนการลงทุนไปในต่างจังหวัดมากขึ้น

การดำเนินธุรกิจค้าปลีกภายใต้การร่วมมือ (Partner) หรือร่วมลงทุนตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ตั้งแต่ผู้ผลิตหรือซัพพลายเออร์ ระบบการเงินที่นอกจากจะอำนวยความสะดวกในเรื่องของระบบชำระเงินแล้ว ยังหมายถึงการช่วยคัดกรองหรือการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพหรืออยู่ในกลุ่ม Partner เดียวกัน ไปจนถึงระบบการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการทำธุรกิจในยุค Omni-channel ผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือกลุ่ม Modern trade จะมองหาโอกาสทางการตลาดในต่างประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่ยังมีศักยภาพในการเติบโต เมื่อเทียบกับตลาดในประเทศที่การบริโภคเริ่มอิ่มตัว หรือไม่ได้เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับอดีต เช่น เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น