สธ.เล็งถกยกเลิกรายงานตัวเลขยอดติดเชื้อรายวัน ให้เหลือเพียงยอดผู้ป่วยหนัก-เสียชีวิต

490
0
Share:
โควิด

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ว่าที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบหลักการแนวทางการพิจารณาโรคโควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากการระบาดมีทิศทางที่ดีขึ้น อยู่ภายใต้การควบคุม ไม่ได้มีลักษณะรุนแรงและเป็นไปตามหลักวิชาการ ซึ่งโรคประจำถิ่นเป็นนิยาม ยังไม่ได้มีเกณฑ์ จึงต้องกำหนดลักษณะคร่าวๆ แล้วแปลงเป็นตัวเลข เพื่อเป็นเป้าหมายในการบริหารจัดการ โดยหลักเกณฑ์กว้างๆ มี 3 เรื่อง คือ

1.อัตราเสียชีวิตต่ำกว่า 1 ต่อผู้ป่วย 1 พันคน ก็ต้องไม่ให้เกินนี้ หากเกินถือว่าเป็นโรคที่อาจจะรุนแรง ส่วนการติดเชื้อมีเป็นระยะได้ แต่โรคต้องไม่รุนแรงเกินไป ไม่อันตราย อยู่ในการควบคุม ไม่ใช่ระบาดทั้งประเทศ แต่เสียชีวิตอัตรา 1 ต่อพันรายก็ไม่ดีเช่นกัน

2.คนมีภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน ซึ่งสำหรับโอๆมครอน ต้องได้วัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 80% ของประชากร ซึ่งขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 70 กว่า% แล้ว

3.ระบบการดูแลรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องสอดคล้องกับการระบาดด้วย อย่างตอนนี้ยังเป็นโรคระบาดใหญ่และเป็นโรคติดต่ออันตราย ดังนั้นกระบวนการทางกฎหมายก็ต้องถอดออกจากการเป็นโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อทั่วไป ต้องมีกระบวนการทางกฎหมายให้สอดคล้องด้วย

ทั้งนี้รัฐบาลไม่อยากปล่อยเวลาให้โรคโควิด เป็นโรคประจำถิ่นด้วยตัวเอง จึงต้องบริหารจัดการให้เป็นโรคประจำถิ่น โดยบริหารจัดการให้ถึงเป้าหมายครบทั้ง 3 หลัก ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะในการบริหารจัดการให้ถึงเกณฑ์ที่เป็นโรคประจำถิ่นได้ จะมอบหมายให้ สธ.และกรมควบคุมโรคไปดำเนินการบริหารจัดการตามแนวทาง โดยไปสร้างมาตรการและกลไก

สำหรับการจัดให้มี “คลินิกวัคซีนผู้ใหญ่” เนื่องจากยังต้องมีการฉีดวัคซีนโควิดอีกระยะใหญ่ เพื่อให้บุคคลมีภูมิต้านทานต่อเนื่อง โดยให้เปิดเป็นฟังก์ชันให้บริการโดยเฉพาะในรพ. ซึ่งอาจจะเปิดถึงในระดับ รพ.ชุมชน จะมีนโยบายตั้งจุดฉีดประจำเป็นคลินิก

และเมื่อถามว่า การเป็นโรคประจำถิ่นต้องดูสถานการณ์ทั่วโลกหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ก็ดูประกอบ แต่การที่เรามีเกณฑ์ ไม่ใช่ว่าเราจะไปแซงอะไร แต่จะเป็นแนวทางการบริหาร อย่างโรคประจำถิ่นเมื่อก่อนต้องรอใครประกาศ ก็ไม่มีตัวชี้วัดหรือเป้าหมายที่เราต้องทำ ถ้ารอประกาศขององค์การอนามัยโลก ก็อาจทำไม่ทัน ซึ่งเราทำของเราเองมาตลอด บางอย่างถ้าเป็นกฎหมายของเขาก็ต้องรอเขา แต่บางอย่างเป็นเรื่องของเรา เราก็ทำเองได้ และรัฐบาลดูแลทุกคน ซึ่งก็ครอบคลุมทุกสิทธิ ไม่ว่าโรคอะไรจะเป็นโรคประจำถิ่นหรือไม่ ก็มีสิทธิในการรักษาได้

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายถึงการปรับการรายงานตัวเลขโควิด ที่ไม่รายงานจำนวนติดเชื้อใหม่ แต่เหลือเพียงตัวเลขผู้ป่วย ซึ่งก็จะหารือกัน อย่างเช่น โรคไข้เลือดออก โรคท้องเสีย เราก็ไม่รายงานทุกวัน ก็จะเหลือแค่ตัวเลขผู้ป่วยหนัก เสียชีวิต แต่ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่รู้จุดระบาด เพราะมีตัวเลขในโรงพยาบาล เพื่อสอบสวนโรคขึ้น โดยระบบที่มี ก็เพื่อเฝ้าระวังการระบาดใหญ่ ไม่ใช่การรายงานทุกวัน