สนข.เสนอวิธีรัฐไม่ต้องอุ้มรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสาย

664
0
Share:

นายชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่าสำหรับแนวทางการศึกษามาตรการค่ารถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายนั้นต้องดูเรื่องอุปสงค์และอุปทาน (demand and supply) ของผู้โดยสาร ในกรณีนี้ สนข.มองว่าหากลดค่าโดยสารจะส่งผลให้อุปสงค์ หรือความต้องการใช้ของผู้โดยสารเพิ่มขึ้น
.
ดั้งนั้นรถไฟฟ้าสองเส้นทางได้แก่ สายสีม่วงและรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันรัฐบาลต้องจ่ายค่าชดเชยต้นทุนให้กับทั้งสองสายนี้อยู่แล้ว ดังนั้นหากมองเชิงคณิตศาสตร์เปรียบเทียบสมการ ยกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันรถไฟฟ้าสองสายดังกล่าวมีราคาเฉลี่ยที่ 30 บาทมีผู้โดยสาร 50,000 คน มีรายได้วันละ 1,500,000 ล้านบาท ถ้าลดราคาลงเหลือ 15 บาท แล้ว พบว่ามีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 100,000 คนจะส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้วันละ 1,500,000 เท่าเดิม
.
ดังนั้นเมื่อคนใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นแล้ว รัฐบาลจะมีรายได้เท่าเดิมโดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนจากที่ไหน อีกทั้งประชาชนยังสามารถใช้รถไฟฟ้าในราคาถูกเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย
.
ด้านนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ต้องการให้นโยบายรถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายเห็นผลภายใน 3 เดือนนี้ จากเดิมตั้งเป้าหมายภายในสิ้นปี เนื่องจากเป็นโครงการภายใต้การกำกับดูแลของรัฐไม่ผูกพันสัญญาเอกชน และยังต้องการลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายหลักอย่างสายสีเขียวและรถไฟฟ้าใต้ดินด้วยเนื่องจากเป็นเส้นทางที่ประชาชนใช้จำนวนมาก
.
อย่างไรก็ตามหลังจากนี้จะเจรจาร่วมกับ BTS และ BEM ว่าจะใช้เงื่อนไขอะไรเอาไปแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ซึ่งตนยืนยันว่านโยบายการลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในระบบขนส่งสาธารณะ ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องช่วยกัน
.
ส่วนการประเมินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ระบุว่าหากลดราคาค่าโดยสาร 15 บาทจะมีภาระที่รัฐบาลต้องชดเชยปีละ 700 ล้านบาท ยืนยันว่าจะทำทุกแนวทางเพื่อไม่ให้กระทบกับงบประมาณของภาครัฐ เพื่อให้นโยบายนี้ทำได้โดยไม่เกี่ยวโยงกับหน่วยงานอื่นๆ และมอบให้สนข.เป็นผู้ศึกษาแนวทางและสรุปเงื่อนไขทั้งหมดให้ได้ภายใน 1 เดือนนับจากนี้