สนค.ดันสินค้าอาหารจากพืช ทั่วโลกบริโภคถึง 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ชี้ช่องผู้ประกอบการไทยโตได้

102
0
Share:

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นภายใต้โครงการจัดทำภาพอนาคต สินค้าอาหารจากพืช (Plant-Based Food)” ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี ว่า ข้อมูลจาก Euromonitor ช่วงปี 2562 – 2567 มูลค่าตลาดอาหารจากพืชทั่วโลกเติบโตเฉลี่ย 10.5% ต่อปี สำหรับปี 2567 คาดมีมูลค่าตลาดประมาณ 25,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากแนวโน้มการบริโภคในปัจจุบัน ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมที่ตระหนักถึงสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงความกังวลต่อปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ทำให้อาหารจากพืชมีโอกาสที่จะเติบโต ประกอบกับไทยมีจุดแข็ง มีวัตถุดิบ และมีห่วงโซ่คุณค่าของอุตสาหกรรมอาหารที่ค่อนข้างครบวงจรในประเทศ ตั้งแต่การปลูกพืช และส่งต่อถึงการผลิตและแปรรูป อีกทั้งอาหารไทยได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงในระดับโลก จึงทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและการค้าสินค้าอาหารจากพืช

ทั้งนี้ สนค. ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ดำเนินโครงการจัดทำภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืช ( Plant-Based Food ) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ศักยภาพ โอกาส แนวโน้มทิศทาง และจัดทำภาพอนาคต ( Foresight) สินค้าอาหารจากพืช เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สำหรับการพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งทางการค้าสินค้าอาหารจากพืช เสริมสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน เปิดประตูสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ ในการดำเนินโครงการ ได้ศึกษา รวมรวม และวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ ปัจจัยขับเคลื่อน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมในมิติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี สภาพแวดล้อม และกฎหมาย

นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์เชิงลึก เก็บข้อมูล รับฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมกว่า 30 ราย โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์หาสัญญาณ แนวโน้ม และปัจจัยขับเคลื่อน และจัดทำภาพอนาคต สินค้าอาหารจากพืช และการจัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ ที่มีผู้เชี่ยวชาญและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อฉากทัศน์และภาพอนาคต เพื่อให้ภาพอนาคตสินค้าอาหารจากพืชของไทยมีความสมบูรณ์มากขึ้น ซึ่งจะนำไปจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการค้าสินค้าอาหารจากพืชต่อไป

ไทยมีข้อได้เปรียบที่มีสินค้าเกษตรที่หลากหลาย แต่มักส่งออกเป็นวัตถุดิบขั้นต้น ดังนั้น การหาพืชศักยภาพใหม่ ๆ ที่สามารถใช้นวัตกรรมในการผลิตแปรรูปและช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร จะช่วยให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการขยายโอกาสของสินค้าเกษตรและอาหารไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคและตลาดใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้นนายพูนพงษ์ กล่าว