สภาพัฒน์ส่งซิกไทยเผชิญแรงงานหดหายแถมการศึกษาไม่สูง น่าห่วงสุดกับแรงงานกลุ่มวัย 45 ปี

67
0
Share:
สภาพัฒน์ ส่งซิกไทยเผชิญ แรงงาน หดหายแถมการศึกษาไม่สูง น่าห่วงสุดกับแรงงานกลุ่มวัย 45 ปี

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสศช. เปิดเผยรายงานแผนพัฒนาประชากรเพื่อการพัฒนาประเทศระยะยาว ในช่วงระหว่างปี 2565–2580 หรือ 15 ปี พบว่าในทุกๆ 10 ปี โครงสร้างประชากรไทยในวัยแรงงานจะลดลงกว่า 3 ล้านคน ปัจจุบัน สิ้นสุดไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ที่อยู่ในวัยแรงงานกว่า 40.7 ล้านคน ซึ่งตรงกันข้ามกับความต้องการแรงงานในไทยยังคงเพิ่มขึ้น หากแนวโน้มการดำเนินอุตสาหกรรมในปัจจุบันยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากนัก โดยความต้องการแรงงานจะเพิ่มจาก 37.55 ล้านคน ในปี 2560 เป็น 44.71 ล้านคนในปี 2580

การใช้ระบบอัตโนมัติมาทดแทนแรงงานซึ่งจะทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นได้โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้จำนวนแรงงานเหมือนในอดีตผ่านมาจึงเป็นทางออก คาดว่าการเพิ่มผลิตภาพ 5% จะสามารถลดความต้องการแรงงานลงกว่า 2 ล้านคน

ปัจจุบันการปรับตัวไปใช้ระบบอัตโนมัติในประเทศไทยยังมีไม่มากนัก ผู้ประกอบการที่อยู่ในเกณฑ์อุตสาหกรรม 4.0 มีจำนวนเพียง 5% ของอุตสาหกรรมไทยทั้งหมด ขณะที่โรงงานในไทยถึง 85% ยังต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตให้เป็นแบบระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้นที่เปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ จึงควรเน้นการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กให้เข้มข้นยิ่งขึ้นในอนาคต

สศช. คาดการณ์ว่า กลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือแรงงานที่อายุค่อนข้างมาก ซึ่งมีอุปสรรคในการปรับทักษะโดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าในปี 2563 แรงงานกลุ่มที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปมากกว่าครึ่งมีการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา ซึ่งจะเป็นความท้าทายสำคัญในการยกระดับทักษะแรงงานกลุ่มดังกล่าวให้ทันกับตลาดงานภายใต้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่มีความรวดเร็ว

ด้านกรมการจัดหางาน เปิดเผยสถิติความต้องการแรงงานของ พบว่า ตำแหน่งงานว่างในไตรมาสที่ 4 ปี 2566 อยู่ที่ 179,000 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.2% แต่มีผู้สมัครงานเพียง 9,358 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนผู้สมัครงานต่อตำแหน่งงานว่าง 0.14% หรือตำแหน่งงาน 100 ตำแหน่ง จะมีผู้สมัครเพียง 14 คน โดยสัดส่วนดังกล่าวลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนให้เห็นถึงภาวะการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แรงงานรายจังหวัดในเดือนธันวาคม 2566 ปรากฏว่าผู้สมัครงานกลับมีจำนวนน้อยกว่าตำแหน่งงานว่างถึง 6.8 เท่า ในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวช. และ 7.1 เท่า ในกลุ่มที่จบการศึกษาระดับ ปวส.