สภาองค์กรของผู้บริโภคเปิด 4 ข้อเสนอต่อคปภ. แก้ปัญหาไม่จ่าย-จ่ายสินไหมประกันโควิดช้า

444
0
Share:
ประกันโควิด

สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีประกันโควิด – 19 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 ถึง เดือนมกราคม 2565 เป็นจำนวน 1,069 เรื่อง โดยพบว่าเป็นกรณีร้องเรียนปัญหาถูกปฏิเสธการเคลมประกันภัยโควิด การจ่ายเงินตามสัญญาประกันล่าช้า ไม่ได้รับความสะดวกในการแจ้งเคลมประกัน ซึ่งสอบ. เคยจัดทำข้อเสนอต่อกรณีดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) แล้วเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 แต่ยังคงได้รับการร้องเรียนประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องนั้น

สอบ. จึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ไปยัง คปภ. เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคต่อการบังคับใช้กฎหมาย 4 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. สอบ. ขอสนับสนุนการยืนยันไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 และคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวเป็นไปตามเจตนารมย์ของกฎหมาย ดำเนินการออกโดยถูกต้อง อีกทั้งการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ถือเป็นการเปิดโอกาสให้บริษัทประกันภัยยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงสัญญาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้บริโภค ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมและอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของภาพรวมธุรกิจประกันภัยทั้งประเทศ

นอกจากนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิตามสัญญา สอบ. จึงเสนอให้ คปภ.ประสานงานกับรัฐบาลในการตั้งกองทุนเพื่อจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เสียหาย โดยไม่ต้องรอเงินจากบริษัทประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยรัฐดำเนินการไล่เบี้ยแทนผู้บริโภค และบริษัทได้มีระยะเวลาในการบริหารจัดการเงินทุนเพื่อมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจ รวมถึงลดคดีจำนวนมากที่จะขึ้นสู่ศาล

2. ขอให้ คปภ. มีบทลงโทษขั้นสูงสุดต่อบริษัทประกันที่พฤติกรรมเข้าข่ายประวิงการจ่ายเงินและฝ่าฝืนต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ คำสั่งของ คปภ. เนื่องจากผู้ร้องเรียนเรื่องประกันภัยมักได้รับการจ่ายสินไหมทดแทนล่าช้าหรือไม่ได้รับตามลำดับที่บริษัทแจ้ง คปภ. ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับค่าสินไหมทดแทน รวมถึงประสานข้อมูลมายัง สอบ. เพื่อสนับสนุนเผยแพร่ข้อมูลบริษัทประกันที่ดำเนินการละเมิดสิทธิผู้บริโภค

3. ขอให้ คปภ. ประสานความร่วมมือกับ สปสช. ในการแก้ไขปัญหาการยืนยันตัวผู้ป่วยที่มีความจำเป็นในกรณีได้รับรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือในศูนย์ของชุมชน (Community Isolation) ซึ่งหากมีการร่วมมือกันจะทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องยื่นใบรับรองแพทย์เพื่อขอเคลมค่าสินไหมทดแทนกับบริษัทประกัน และบริษัทประกันเองสามารถตรวจสอบข้อมูลได้ว่าผู้ยื่นเคลมประกันเป็นผู้ป่วยที่มีความจำเป็นทางการแพทย์จริง และลดปัญหาการปลอมแปลงเอกสารใบรับรองแพทย์เพื่อขอเคลมค่าสินไหม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

และ 4. ขอให้ คปภ. ออกประกาศสถานะกองทุนของบริษัทต่าง ๆ และจัดลำดับเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันภัย เนื่องจาก สอบ. พบว่าการจำนวนเงินในกองทุนประกันวินาศภัยของบางบริษัทประกันภัย สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงแน่นอนในสภาพทางการเงินของบริษัท ดังนั้น การออกประกาศสถานะกองทุนของบริษัทต่าง ๆ และจัดลำดับเครดิตความน่าเชื่อถือของบริษัทประกันภัย จะทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่ครบถ้วนและสิทธิในการเลือกซื้อบริษัทประกันภัย มีข้อมูลในการพิจารณาและเลือกใช้บริการกับบริษัทประกันภัยที่มีฐานะการเงินที่มั่นคง ไม่มีประวัติการประวิงหรือจ่ายสินไหมล่าช้า หรือไม่เคยถูกร้องเรียนจำนวนมากมาก่อน