สภาอุตสาหกรรมชี้นโยบายรัฐบาล ไม่ค่อยตรงปกเสียเท่าไร ขอแจงรายละเอียดให้ชัด

220
0
Share:
สภาอุตสาหกรรม ชี้ นโยบาย รัฐบาล ไม่ค่อยตรงปกเสียเท่าไหร่ ขอแจงรายละเอียดให้ชัด

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการแถลงนโยบายของรัฐบาลในเบื้องต้น ว่ายังไม่ค่อยตรงปกเสียเท่าไร โดยเฉพาะในมุมของภาคประชาสังคมที่ได้มีการหาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งยังไม่เห็นความชัดเจนของแนวทางปฏิบัติของแต่ละนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงมา ซึ่งอาจไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดในสภา แต่เมื่อมีการหารือร่วมกับภาคเอกชนอยากให้ฉายภาพให้เห็นว่าเมื่อนำนโยบายต่างๆ มาปฏิบัติจริงจะเป็นอย่างไร

โดยในเบื้องต้น ส.อ.ท.มีการเตรียมจัดทำ สมุดปกขาว คาดว่าภายในสิ้นเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคมนี้ น่าจะจัดทำเสร็จแล้ว โดยเนื้อหาจะมีการแจกแจงรายละเอียดและแนวทางปฏิบัติให้กับภาครัฐได้เห็นภาพชัดเจนด้วย อาทิ การชี้เป้าให้เห็นว่าปัญหาในเรื่องนั้นๆ ต้องแก้ไขอย่างไร และต้องแก้กฎหมายฉบับไหน เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ภาคเอกชนอยากเห็นที่สุดตอนนี้คือแผนในการทำงานของรัฐบาล หรือแพลนนิง แต่แพลนแล้วนิ่งไม่เอา รวมถึงต้องเรียงลำดับความสำคัญด้วยว่าเรื่องใดควรทำก่อนหรือหลัง ซึ่งเรื่องใดที่ใกล้มือควรเร่งแก้ไขก่อน ภายในช่วง 6 เดือน ถึง 1 ปี เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศตอนนี้แย่กว่าที่คิด

ส่วนเรื่องที่มองว่ารัฐบาลยังมีนโยบายไม่ตรงปกคือ การจัดการปัญหาด้านพลังงาน ซึ่ง ส.อ.ท.ได้สะท้อนเรื่องนี้มาโดยตลอดว่าภาคเอกชนไม่ได้มองแค่ว่าต้องลดราคาพลังงาน เรามองไปถึงเรื่องการปรับโครงสร้างของราคาพลังงาน ซึ่งการลดราคาพลังงานเป็นเรื่องหนึ่งที่อยากเห็นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวอยากเห็นเรื่องปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศทั้งหมด อาทิ พลังงานไฟฟ้า พลังงานภาคอุตสาหกรรม ไม่ใช่เพียงลดค่าไฟแล้วจบ

ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายเรื่องการลดราคาน้ำมันดีเซลลงมาเพื่อช่วยภาคขนส่งและโลจิสติกส์ที่มีอัตราใช้น้ำมันดีเซลอยู่ที่ 60% ซึ่งเมื่อเริ่มปฏิบัติจริงก็จะมีผลช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และค่าครองชีพได้ทันที ส่วนเรื่องการลดอัตราค่าไฟฟ้า ตัวเลขของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ล่าสุด คาดว่าจะปรับลดลงมาจาก 4.70 บาทต่อหน่วย เหลือ 4.45 บาทต่อหน่วย หรือต่ำกว่านั้น ซึ่ง ส.อ.ท.ได้เสนอขอให้ลดลงเหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย จึงคิดว่าภาครัฐอาจจะจัดทำเรื่องนี้เป็นของขวัญมอบให้กับประชาชนในช่วงปลายปีนี้ หากสามารถลดลงต่ำกว่า 4.25 บาทต่อหน่วย ก็ยิ่งดี แต่หากเป็นการจัดทำแบบระยะสั้น ไม่มีการปรับโครงสร้าง สุดท้ายก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ภาคเอกชนอยากเห็นความยั่งยืน และอยากให้รัฐบาลปรับโครงสร้างพลังงานอย่างจริงจัง